9 วัด อุดรธานี ขอพร เสริมดวงให้ชีวิตราบรื่นตลอดปี

อุดรธานี

9 วัด อุดรธานี ไหว้พระ ขอพร โชคดีมีชัยตลอดปี

สวัสดีค่ะเพื่อนๆ อีกไม่กี่วันก็จะถึงเดือนเมษาแล้วนะคะ ช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์แบบนี้ ทุกท่านคงจะวางแผนไปเที่ยวต่างจังหวัดกันแน่ๆเลยใช่ไหมคะ

โอกาสดีๆแบบนี้ แอดมินอยากจะชวนทุกท่านมาเที่ยวภาคอีสาน มาสักการะคำชะโนดที่อุดรธานีกันค่ะ ชิมอาหารอีสานแซ่บๆ ชมวิวสวยๆระหว่างการเดินทาง สูดอากาศบริสุทธิ์กันให้เต็มปอดไปเลยค่ะ รับรองว่าได้กลับบ้านกันแบบอิ่มอกอิ่มใจอีกแน่นอน

วันนี้ขอแนะนำ 9 วัด อุดรธานี ไหว้พระ ขอพร เสริมดวงให้ชีวิตราบรื่นตลอดปี แถมด้วยเกร็ดความรู้ประวัติศาสตร์เล็กๆน้อยๆของแต่ละสถานที่ จะมีที่ไหนบ้างเราไปดูกันเลยค่าา


วัดป่าภูก้อน

วัดป่าภูก้อน อำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี

ทุกท่านคงทราบกันดีว่าจังหวัดอุดรธานี เป็นหนึ่งในจังหวัดใหญ่ ๆ ของภาคอีสาน มีความสวยงามและมีความสำคัญอย่างยิ่งในทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นที่ตั้งของแหล่งอารยธรรมบ้านเชียง ซึ่งเป็นร่องรอยของอารยธรรมมนุษย์ที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่โด่งดังของจังหวัดอุดรธานี และยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่คนไทยต่างรู้จักกันดี ก็คือ คำชะโนด ตั้งอยู่ที่วัดศิริสุทโธ อำเภอบ้านดุง เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านและชาวอุดรต่างให้ความเคารพ และเชื่อกันว่าเป็นปากเมืองบาดาลที่มีตำนานเกี่ยวกับพญานาค ตามความเชื่อของชาวอีสานและชาวลาว มีศาลเจ้าปู่ศรีสุทโธและบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์  

เกริ่นมาซะขนาดนี้แล้ว แอดมินต้องไม่พลาดที่จะแนะนำสถานที่แรก ก็คือ คำชะโนด นั่นเองค่ะ รวมถึงเล่าเรื่องตำนานคำชะโนดและบันทึกเรื่องบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์คำชะโนดอีกด้วยค่ะ

คำชะโนด วัดศิริสุทโธ

คำชะโนด

คำชะโนด หรือ วัดศิริสุทโธ อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี

คำชะโนด หรือ วัดศิริสุทโธ เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนเกาะที่มีชื่อว่า เกาะชะโนด ในทุ่งนาของตำบลบ้านม่วง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานีค่ะ

โดยสถานที่นี้มีความเชื่อตามตำนานพื้นบ้าน ว่าสถานที่แห่งนี้ เป็นประตูสู่เมืองบาดาล เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของพญานาค ปกครองรักษาโดยพญานาคราชปู่ศรีสุทโธ พญานาคผู้ยิ่งใหญ่แห่งลุ่มแม่น้ำโขง และองค์แม่ศรีปทุมมานาคราชเทวี หรือชื่อที่ชาวบ้านมักเรียกกันว่า “จ้าวปู่ศรีสุทโธ” และ “จ้าวย่าศรีปทุมมา”

อ่านประวัติตำนานคำชะโนด เพิ่มเติมได้บทความ

>> ประวัติ ตำนานคำชะโนด ที่กล่าวขานกันมาช้านาน คลิกที่นี่ <<

ภายในเกาะคำชะโนดมีศาลเจ้าปู่ศรีสุทโธ และบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ บริเวณใจกลางของป่าคำชะโนด ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างเมืองบาดาลและเมืองมนุษย์ จึงเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านรวมไปถึงนักท่องเที่ยวต่างให้ความเคารพ ความเลื่อมใสศรัทธา และเดินทางมาสักการะกันไม่ขาดสาย

ความมหัศจรรย์ ของน้ำจากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ อยู่ที่ผู้มีความเชื่อความศรัทธาต้องการอยากให้เกิดพลังด้านใดก็ให้อธิษฐานนำไปใช้ตามนั้น มีหลายกลุ่มที่รวมตัวกันมาทำพิธีขอน้ำไปใช้เป็นยารักษาโรคและอื่นๆ บางคนก็อธิฐานไปเพื่อกิจการค้าขายและการเดินทาง ผลที่เขาได้รับก็เป็นตามความต้องการ 

โดยผู้คนส่วนใหญ่มักเดินทางไปขอพรเรื่องความร่ำรวย ความอุดมสมบูรณ์ และขอโชคลาภ แอดมินเชื่อว่าเพื่อนๆควรมาสักครั้งเพื่อกราบไหว้บูชาและขอให้บุญบารมีท่านช่วยอำนวยพร โดยคำชะโนดเปิดให้เข้าไปสักการะได้ทุกวัน เวลา 06.00 – 18.00 น.

บันทึกเรื่องบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์คำชะโนด

บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์คำชะโนด

บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์คำชะโนด

บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์คำชะโนด คือบ่อน้ำผุดธรรมชาติซึมซับอยู่ตลอดเวลาไม่เหือดแห้งเสมอต้นเสมอปลาย อันเนื่องมาจากพลังอำนาจบุญบารมีขององค์ปู่พญาศรีสุทโธและความอุดมสมบูรณ์ จากคำบอกเล่า ของพ่ออุทัย ไพเราะ และผู้รู้ท่านอื่นๆ รวมถึงชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงคำชะโนด

ได้มีการเชื่อมต่อจาก ทางสายญาณบารมีจากนิมิตเป็นที่น่าอัศจรรย์ ซึ่งอยู่ที่เมืองชำโนดเป็นประตูขึ้นลงระหว่างเมืองบาดาล และเมืองมนุษย์โลก ที่พระอินทร์ทรงประทานพรใช้องค์ปู่พญาศรีสุทโธ หลังจากที่ได้รับชัยชนะในการสร้างแม่น้ำแข่งขันกับองค์ปู่สุวรรณนาค และได้ทรงมอบเมืองพรหมประกายโลก ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของพรหม

ที่กลายร่างเป็นเทพบังบดให้องค์ปู่พญาศรีสุทโธครอบครอง พร้อมกับประทานพรให้

1) เป็นทางขึ้น-ลง เมืองบาดาลและมนุษย์โลก

2) ต้นชะโนด ไม้คู่บารมี ให้เกิดรวมอยู่ที่เกาะแห่งนี้

3) บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ จากเมืองสวรรค์

อ่านบันทึกเรื่องบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์คำชะโนด เพิ่มเติมได้บทความ

>> ประวัติบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ คลิกที่นี่ <<

ที่อยู่ : วัดศิริสุทโธ ตำบล บ้านม่วง อำเภอ บ้านดุง อุดรธานี 41190

พิกัด : https://goo.gl/maps/MCKQDr3eg5BXxHCW8

เปิดให้เข้าชม : ทุกวัน 06.00-18.00 น.

โทร : ศูนย์อำนวยการคำชะโนด 06 4973 8384, 06 5885 9065

เว็บไซต์ : https://khamchanod.com


ไปต่อกันที่บ้านเชียงค่ะ คุ้นๆชื่อใช่ไหมคะ เป็นอำเภอที่เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงเป็นมรดกโลก ทางประวัติศาสตร์ ซึ่งจดทะเบียนโดยองค์การยูเนสโก (UNESCO) นั่นเองค่ะ

แต่วันนี้แอดมินไม่ได้จะพาทุกท่านไปเยี่ยมชมภายในพิพิธภัณฑสถานนะคะ แต่จะขอชวนทุกท่านมาชม “อุโบสถดอกบัวกลางน้ำ” ที่วัดสันติวนาราม บอกเลยว่าสวยงาม ร่มรื่นมากๆ และที่ตั้งของวัดก็อยู่ไม่ไกลจากคำชะโนดอีกด้วยค่ะ ถ้ามีโอกาสมาถึงอุดรแล้ว ห้ามพลาดค่าา

อุโบสถดอกบัวกลางน้ำ วัดสันติวนาราม

อุโบสถดอกบัวกลางน้ำ วัดสันติวนาราม

อุโบสถดอกบัวกลางน้ำ วัดสันติวนาราม อำเภอหนองหาน  จังหวัดอุดรธานี

วัดสันติวนาราม หรือ วัดดงไร่ เป็นสถานที่สำคัญทางศาสนาพุทธศาสนาอีกหนึ่งแห่งในจังหวัดอุดรธานี ที่นี่มีเอกลักษณ์ถือเป็นหนึ่งเดียวในประเทศไทย นั่นคือ “อุโบสถดอกบัวกลางน้ำ” 

อุโบสถดอกบัวกลางน้ำที่วัดสันติวนาราม ประกอบด้วยดอกบัว 24 กลีบ และมีพญานาค 2 ตัว ตั้งอยู่กลางน้ำ สามารถเดินไปชมได้ผ่านสะพานที่เชื่อมไปยังพระอุโบสถ เพื่อสักการะและชมความงดงามภายในอุโบสถ

ส่วนบรรยากาศภายในก็มีความวิจิตรตระการตาไม่แพ้ด้านนอก ด้วยภาพวาดฝาผนังที่บอกเล่าเรื่องราวพุทธประวัติ ประดิษฐานองค์พระประธานสีขาวโดดเด่นอยู่ภายในอุโบสถ

บริเวณโดยรอบถูกโอบล้อมไปด้วยบึงน้ำขนาดใหญ่และมีปลาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก รวมไปถึงนกนานาชนิด และเต่า ตะพาบ โดยนักท่องเที่ยวสามารถทำทานด้วยการให้อาหารปลาได้อีกด้วย ทำให้การเดินทางไปเยี่ยมชมวัดสันติวนารามกลายเป็นการพักผ่อน และได้สัมผัสใกล้ชิดกับธรรมชาติที่สวยงามและเงียบสงบ

การก่อสร้างพระอุโบสถกลางน้ำรูปทรงดอกบัวถือว่ามีแห่งเดียวในประเทศไทย เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 ในสมัยพระครูพิสารธรรมพาธีได้นำรูปแบบพระอุโบสถมาจากประเทศอินเดีย อดีตเจ้าอาวาสที่มรณภาพไปแล้ว แต่การก่อสร้างยังไม่แล้ว เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน คือ ดร.มหาบาง เขมานันโธ จึงได้สืบสานในการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ

ที่อยู่ : หมู่ 11 ตำบล บ้านเชียง อำเภอหนองหาน อุดรธานี 41310

พิกัด : https://goo.gl/maps/Haj5b7vicMeoiYfR7

เปิดให้เข้าชม : 05:00 – 18:00 น.

โทร : 086-229-7739


อุโบสถดอกบัวกลางน้ำ สวยงามมากเลยใช่ไหมคะ ต่อไปแอดมินจะขอชวนทุกท่านไปย้อนอดีตกันกับที่มีความเก่าแก่และสวยงามมากๆ นั่นคือ พระมหาธาตุเจดีย์ อายุมากกว่า 1,500 ปีเลย ถือเป็นหลักฐานทางประวัติศาสน์ที่สำคัญมากๆค่ะ

พระมหาธาตุเจดีย์ พระธาตุดอนแก้ว

พระมหาธาตุเจดีย์ พระธาตุดอนแก้ว

พระมหาธาตุเจดีย์ พระธาตุดอนแก้ว อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี

พระมหาธาตุเจดีย์ หรือ พระธาตุดอนแก้ว เป็นหนึ่งในสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอีกหนึ่งแห่งของไทยที่ไม่ควรพลาดเลย

โดยตั้งอยู่ที่บ้านดอนแก้ว กลางหนองหานน้อย ตำบลกุมภวาปี ประดิษฐานอยู่กลางวัดมหาธาตุเจดีย์ ห่างจากตัวเมืองอุดรธานีประมาณ 50 กิโลเมตร 

ดอนแก้ว เป็นเกาะเล็ก ๆ กลางหนองหานน้อย ตำบล กุมภวาปี ซึ่งเป็นต้นกำเนิดแม่น้ำลำปาว ดอนแก้วมีพื้นที่ลักษณะกลม มีคูน้ำล้อมรอบ โดยภายในเกาะเป็นที่ดอนสูง ๆ ต่ำ ๆ ที่ไม่เหมาะกับการเกษตร ชาวบ้านมักอาศัยอยู่บริเวณชายน้ำริมเกาะ

พระธาตุเจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงเหลี่ยมคล้ายพระธาตุพนมสูงประมาณ 18 วาเศษ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลง 2 ชิ้น โดยชั้นแรกมีความกว้างด้านละ 14 ม. สูง 1.25 ม. และมีทางขึ้นลงด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ส่วนชั้นที่ 2 กว้างยาวด้านละ 10 ม. สูง1.50 ม. มีทางขึ้นลง 4 ด้าน และฐานขั้นนี้เป็นลานประทักษิณเจดีย์ 

องค์พระธาตุก่อด้วยอิฐถือปูน ประกอบด้วยฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส ซึ่งมีประติมากรรมปูนปั้นรูปกลีบบัวหงายประดับที่มุมทั้ง 4 และมีประติมากรรมนูนต่ำ นอกจากนี้ยังมีภาพพระพุทธเจ้าพระสาวก เทวดา และบุคคลที่ประดับโดยรอบ 

เรือนธาตุเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนกัน 3ชั้น สูงขึ้นไปตามลำดับ โดยมีบัวคว่ำ บัวหงาย และบัวลูกแก้วคั่น เป็นลักษณะสถาปัตยกรรมล้านช้าง ซึ่งได้รับอิทธิพลจากพระธาตุหลวงเวียงจันทน์ 

ยอดธาตุมีลักษณะเป็นปลีเล็กเรียวแหลมขึ้นไป พบใบเสมาหินทราย บางหลักเป็นรูปสี่เหลี่ยมแบน บางหลักกลมใหญ่ และบางหลักกลมเฉพาะตอนต่ำจากฐาน ตอนเหนือฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมหนา ยาวขึ้นไปกว่า 3 เมตร 

แต่ละหลักยังมีลักษณะต่างกันออกไป หลักหนึ่งมีภาพจำหลักเป็นฐานกลีบบัว เหนือกลีบบัวเป็นรูปคล้ายช้างคู่คู่หนึ่ง ถวายความเคารพเทวรูปสตรีที่ประทับกึ่งกลาง แสดงปางพระพุทธเจ้าประสูติหลักหนึ่งมีจารึกที่ลบเลือนอ่านไม่ออก เสมาหลายหลักปรักหักพัง

ประวัติศาสตร์สมัยทวารวดี ยาวนานกว่า 1,500 ปี

พระมหาธาตุเจดีย์ อายุมากกว่า 1,500 ปี

พระมหาธาตุเจดีย์ อายุมากกว่า 1,500 ปี

การศึกษาของนักโบราณคดีมหาวิทยาลัยศิลปากรได้เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับอายุและประวัติของพระธาตุเจดีย์ ซึ่งพบว่ามีอายุไม่ต่ำกว่า 1,500 ปี และเสมาที่ปักรายรอบมีอายุประมาณ พ.ศ. 11 

นอกจากนี้ ยังพบเสมาหินทรายในสมัยทวารวดีปักรอบพระมหาธาตุเจดีย์ บางทีมีภาพจำหลักและจารึกที่ลบเลือนอ่านไม่ออก นอกจากนี้ยังพบเสมาหินทรายที่ปักห่างจากพระมหาธาตุเจดีย์ไปประมาณ 500 เมตร

นอกจากการพบเสมาหินทรายแล้ว ยังพบพระพุทธรูปหินทรายแดงและพระพุทธรูปสำริดฝีมือช่างพื้นบ้าน

ตำนานเล่าว่า พระอรหันต์กลุ่มหนึ่งจะไปนมัสการพระธาตุพรม ได้มาพักแรมที่ดอนแก้ว พระอรหันต์องค์หนึ่งอาพาธหนักถึงนิพพาน พระอรหันต์ทั้งหลายที่เหลืออยู่จึงถวายเพลิงท่าน และก่อเจดีย์บรรจุพระธาตุไว้ ต่อมาประมาณ พ.ศ. 11 มีกลุ่มคนเข้ามาในดอนแก้วแล้วสร้างใบเสมาหินทรายล้อมรอบพระธาตุไว้ และปักรายรอบบริเวณดอนแก้ว จากการศึกษาพบว่าเป็นเสมาหินทราย สมัยทวารวดี 

ต่อมาชุมชนลาวได้อพยพจากเมืองร้อยเอ็ด เมืองชัยภูมิ เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่ดอนแก้ว มีท้าวชินเป็นหัวหน้าชุมชน ได้ปฏิสังขรณ์พระธาตุเจดีย์ขึ้น (จากจารึกที่ฐานพระธาตุเป็นตัวลาวโบราณ) บอกว่าบูรณะเสร็จสิ้นปี พ.ศ. 2441 

ประมาณ ปี พ.ศ. 2471 มีชุมชนหลายกลุ่มเข้ามาอยู่ในดอนแก้ว ส่วนใหญ่เป็นลาวเวียง จึงได้สร้างวัดเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาขึ้นที่ดอนแก้ว และให้ชื่อว่า “วัดมหาธาตุเจดีย์” ต่อมาใน พ.ศ. 2513 พระครูสังฆรักษ์ (ชน) เจ้าอาวาส ได้ร่วมมือกับชาวบ้านดอนแก้วปฏิสังขรณ์พระธาตุให้แข็งแรงกว่าเดิม 

พบเสมาหินทราย สมัยทวารวดี บางทีมีภาพจำหลัก มีจารึกที่ลบเลือนอ่านไม่ออก เสมาหินทรายปักรอบพระมหาธาตุเจดีย์ และอีกส่วนปักห่างจากพระมหาธาตุเจดีย์ไปประมาณ 500 เมตร พบพระพุทธรูปหินทรายแดง และพระพุทธรูปสำริด ฝีมือช่างพื้นบ้าน 

ที่อยู่ : พระธาตุดอนแก้ว พระมหาธาตุเจดีย์ ตำบล กุมภวาปี อำเภอ กุมภวาปี อุดรธานี 41110 ไทย

พิกัด : https://goo.gl/maps/xwLSAP3as5UWFyzd7

เปิดให้เข้าชม : ทุกวัน เวลา 08:30 – 16:30 น.

โทร : สำนักงานอุดรธานี โทร. 0 4232 5406-7

วัดป่าบ้านค้อ หลวงพ่อทูล

วัดป่าบ้านค้อ

วัดป่าบ้านค้อ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี

วัดป่าบ้านค้อ ตั้งอยู่บนเนื้อที่กว่า 410 ไร่ในบ้านค้อ ตำบลเขือน้ำ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ได้ก่อตั้งขึ้นโดยการนำของ “พระอาจารย์ทูล ขิบปปญโญ” (ปัจจุบันมรณภาพแล้วเมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2551 ) เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2528

มีเสนาสนะและการสาธารณูปโภค ที่เหมาะต่อการอยู่อาศัยปฏิบัติธรรมสำหรับพระ เณร และฆราวาส มีเสนาสนะป่าเหมาะแก่การปลีกวิเวก จังหวัดอุดรธานีกำหนดให้วัดป่าบ้านค้อเป็นศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติประจำจังหวัดอุดรธานี เพื่อเป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่พระพุทธศาสนา

นอกจากนี้ยังได้เคยจัดให้มีการบรรพชาอุปสมบทอบรมกลุ่มปฏิบัติธรรมแก่ นักเรียนและประชาชนทั่วไป อีกทั้งยังมีฆราวาสทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เข้าพักรับอุบายธรรมภาคปฏิบัติอยู่อย่างสม่ำเสมอ

พระมหาธาตุเจดีย์เฉลิมพระบารมีพระนวมินทร์

ผนังโดยมีภาพจิตรกรรม "พระมหาชนก”

มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่อง “พระมหาชนก” ซึ่งเป็นเรื่องหนึ่งในทศชาติชาดก

ภายในวัดมีพระมหาธาตุเจดีย์เฉลิมพระบารมีพระนวมินทร์ มีลักษณะเด่นคือ มีดอกบัวทองคำยอดพระมหาธาตุเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ๓๓ องค์ หล่อขึ้นจากทองเหลืองผสมทองแดงหุ้มด้วยแผ่นทองคำบริสุทธิ น้ำหนัก ๒๓ กิโลกรัม 

องค์ระฆังศิลปะลังกา ประดิษฐานพระเจดีย์ทองคำบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ตลอดทั้งปูชนียวัตถุและเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ บูชาพระบรมธาตุอื่นๆ 

ชั้นล่างเป็น วิหารจัตุรมุขทรงไทยประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ มีประตูกระจกแกะสลัก ๒๒ ช่อง มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่อง “พระมหาชนก” ซึ่งเป็นเรื่องหนึ่งในทศชาติชาดก อันเป็นชาดก 10 ชาติสุดท้าย ก่อนที่พระโพธิสัตว์จะมาประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ และตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อทูล

พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อทูล สร้างขึ้นเพื่อน้อมถวายเป็นเครื่องสักการะบูชาพระคุณของหลวงพ่อทูล ภายในมีการจัดแสดงอัตโนประวัติ และผลงานด้านต่างๆ

โดยมีจุดประสงค์ออกแบบให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต โดยใช้หลัก 3 หลัก คือ ธรรมะ ธรรมชาติ และวัฒนธรรม เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นมาของหลวงพ่อทูล พระอริยสงฆ์ผู้ทรงคุณค่า ให้ลูกหลานได้เรียนรู้และยึดถือเป็นแบบอย่างในการดำรงชีวิตสืบไป

ต้นพระศรีมหาโพธิ์

ต้นพระศรีมหาโพธิ เป็นสัญลักษณ์แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าและความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา ประดิษฐานอยู่เคียงคู่กับพระมหาธาตุเจดีย์ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประดิษฐานเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของชาวพุทธทั่วทุกส่วนของโลกได้มีโอกาสถวายสักการะน้อมรำลึกถึงพระปัญญาคุณ พระกรุณาธิคุณ และพระบริสุทธิคุณของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ต้นพระศรีมหาโพธิที่วัดป่าบ้านค้อนั้นอัญเชิญมาจากศรีลังกา โดยรัฐบาลแห่งประเทศศรีลังกาได้แบ่งกิ่งพันธุ์มาจากเมืองอนุราธปุระ อันเป็นต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พระภิกษุณีที่เป็นพระอรหันต์ได้ตอนกิ่งมาจากต้นโพธิ์ตรัสรู้ ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ เมืองพุทธคยา ประเทศอินเดีย เมื่อสองพันปีเศษที่ผ่านมา

พระแกะสลักไม้ตะเคียนทอง

พระพุทธรูปแกะสลักปางประสูติ ปางตรัสรู้ ปางปฐมเทศนา และปางปรินิพพาน โดยใช้ไม้ตะเคียนทอง ตลอดระยะเวลาการก่อสร้างดำริการสร้างโดย หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ ในปี พ.ศ.2547 โดยหลวงพ่อทูลเป็นผู้ออกแบบ ควบคุมการแกะสลัก และการลงสีอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ได้งานที่ละเอียดประณีต และวิจิตรงดงาม พระพุทธทั้ง 4 ปาง ประดิษฐานอยู่ ณ วิหารสังเวชนียสถาน 4 ตำบล ด้านทิศใต้ของพระมหาธาตุเจดีย์

ที่อยู่ : วัดป่าบ้านค้อ ตำบล เขือน้ำ อำเภอบ้านผือ อุดรธานี 41160

พิกัด : https://goo.gl/maps/jccd5VQ7vYYdTi5Y6

เปิดให้เข้าชม : ทุกวัน 06:00 – 18:00 น.

โทร : วัดป่าบ้านค้อ โทร. 08 5453 3245


อีกสถานที่ขอพรอันศักดิ์สิทธิ์ ก็คือ วัดป่าภูก้อน อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่านายูงและป่าน้ำโสม ซึ่งภายในวัดมีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุในพระเกตุพระร่วงโรจน์ศรีบูรพา และพระพุทธไสยาสน์โลกนาถศาสดามหามุนี พระพุทธรูปปางปรินิพพาน ค่ะ

วัดป่าภูก้อน พระพุทธไสยาสน์

วัดป่าภูก้อน

วัดป่าภูก้อน อำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี

วัดป่าภูก้อน เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ตั้งอยู่บนรอยต่อแผ่นดิน 3 จังหวัด คือ อุดรธานี เลย และหนองคาย ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่านายูงและป่าน้ำโสม ท้องที่บ้านนาคำ ตำบลบ้านก้อง อำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี 

วัดป่าภูก้อนกำเนิดขึ้นจากการดำริชอบของพุทธบริษัท เพื่อตระหนักถึงคุณประโยชน์อันยิ่งใหญ่ของธรรมชาติและป่าต้นน้ำลำธาร ซึ่งกำลังถูกทำลาย โดยใช้พื้นที่ป่าสงวนในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่านายูงและป่าน้ำโสม จัดตั้งเป็น “วัดป่านาคำน้อย” ในเนื้อที่ 15 ไร่ อย่างถูกต้องตามระเบียบของกรมป่าไม้ เพื่อปลูกป่าทดแทนฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรมกว่า 750 ไร่ และเพื่อใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติธรรมและอยู่อาศัยของพระสงฆ์ และได้จัดตั้งเป็น “วัดป่าภูก้อน” ในภายหลัง

พระพุทธไสยาสน์โลกนาถศาสดามหามุนี

พระพุทธไสยาสน์โลกนาถศาสดามหามุนี

พระพุทธไสยาสน์โลกนาถศาสดามหามุนี

ภายในพระวิหารยังถูกตกแต่งอย่างวิจิตรตระการตาแฝงไปด้วยเรื่องราวคำสอนของพระพุทธเจ้า รอบผนังภายในพระวิหารมีภาพพุทธประวัติและภาพทศชาติ พระประธานภายในพระวิหาร คือ “พระพุทธไสยาสน์โลกนาถศาสดามหามุนี” เป็นพระพุทธปางปรินิพพาน ความยาว 20 เมตร ทำจากหินอ่อนสีขาว

พระร่วงรุ่งโรจน์ศรีบูรพา

ด้านหน้าองค์พระเจดีย์ประดิษฐานพระประธาน คือ “พระร่วงรุ่งโรจน์ศรีบูรพา” เป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติ สูง 4.5 เมตร ยอดบนสุดขององค์พระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ภายในองค์พระเจดีย์ชั้นที่สองประดิษฐานรูปแกะสลักหินอ่อนบูรพาจารย์สายกรรมฐาน และชั้นล่างขององค์พระเจดีย์เป็นที่เก็บอัฐบริขารและรูปครูบาอาจารย์สายกรรมฐาน 

นอกจากนี้ยังมี “องค์พระปฐมรัตนบูรพาจารย์มหาเจดีย์” เจดีย์ทรงลังกา ประดับโมเสกทองคำ ตั้งอยู่บนยอดเขาภายในวัด 

วัดป่าภูก้อน มีศาลาและอาคารรอบลานเขา ได้รับการออกแบบทางสถาปัตยกรรมที่สวยงาม โดยพระวิหารมีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์สมัยรัตนโกสินทร์ มีประตูทางเข้าออกวิหาร 3 ด้าน จึงเป็นสถานที่เงียบสงบเหมาะแก่การบำเพ็ญภาวนาของพระสายกรรมฐาน วัดป่าภูก้อนเปิดให้พุทธศาสนิกชนเข้าทำบุญไหว้พระทุกวัน

ที่อยู่ : วัดป่าภูก้อน 99 บ้านนาคำ หมู่ 6 ตำบล บ้านก้อง อำเภอ นายูง อุดรธานี 41380

พิกัด : https://goo.gl/maps/zP1Hv81kSBMkmHMF7

เปิดให้เข้าชม : ประตูวัด 05.30 – 18.30 น. ประตูพระวิหาร 08.00 – 17.00 น.

โทร : วัดป่าภูก้อน โทร. 08 2835 0668, 09 0747 2228

วัดป่าบ้านตาด หลวงตามหาบัว

วัดป่าบ้านตาด หลวงตามหาบัว

วัดป่าบ้านตาด หลวงตามหาบัว อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี 

วัดป่าบ้านตาด ตั้งอยู่ตำบลบ้านตาด อำเภอเมืองอุดรธานี เป็นวัดที่ก่อตั้งโดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (บัว ญาณสมฺปนฺโน) หรือที่นิยมเรียกกันว่า หลวงตามมหาบัว หรือ หลวงตาบัว จากการร่วมกันถวายที่ดินของชาวบ้าน เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2498 

ต่อมากระทรวงศึกษาธิการ ประกาศตั้งขึ้นเป็นวัดในพระพุทธศาสนา ให้ชื่อว่า วัดเกษรศีลคุณ ที่นี่เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม อันสงบเรียบง่าย และเป็นสถานที่พึ่งพิงของสัตว์น้อยใหญ่ ในเขตอภัยทานหลากชนิด

ภายในวัดมีศาลาการเปรียญซึ่งเป็นศาลาไม้หลังใหญ่ เดิมทีเป็นศาลาชั้นเดียวยกพื้นเตี้ย แต่ภายหลังถูกยกให้สูงขึ้น 2 ชั้น เพื่อจะใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น 

ด้านบนศาลาเป็นที่ประดิษฐาน ของพระประธานของวัด ใช้เป็นที่แสดงธรรมอบรมแก่พระภิกษุสามเณรในวัด ตลอดจนเป็นที่ประชุมทำสังฆกรรมร่วมกัน ตู้ด้านขวาขององค์พระประธาน นั้น เป็นที่ประดิษฐานอัฐิธาตุของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของ หลวงตามหาบัว รวมทั้งอัฐิธาตุของครูบาอาจารย์องค์อื่น ๆ 

ส่วนด้านล่างศาลานั้นใช้เป็นที่สำหรับฉันภัตตาหารเช้า สถานที่ที่หลวงตามหาบัวใช้ในการแสดงธรรมเทศนา และปฏิสันถารกับศรัทธาฆราวาสญาติโยม ที่มาจากทุกสารทิศอย่างไม่ขาดสาย

ที่อยู่ : วัดป่าบ้านตาด ตำบล บ้านตาด อำเภอเมืองอุดรธานี อุดรธานี 41000 ประเทศไทย

พิกัด : https://goo.gl/maps/wGWKTRGySSpEYuyx6

เปิดให้เข้าชม : ทุกวัน 06:00 – 18:00 น.

วัดทิพยรัฐนิมิตร (วัดบ้านจิก)

วัดทิพยรัฐนิมิตร (วัดบ้านจิก)

วัดทิพยรัฐนิมิตร (วัดบ้านจิก) อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี 

วัดทิพยรัฐนิมิตร หรือ วัดบ้านจิก เป็นวัดที่เก่าแก่ตั้งบนถนนทหาร ต.หมากแข้ง อ.เมืองอุดรธานี

ภายในวัดป่าบ้านจิกจะมีศาลายักษ์คู่ ซึ่งเป็นศาลาการเปรียญเก่าที่หลวงปู่เคยใช้เป็นสถานที่อบรมสั่งสอนญาติโยม ให้ฝึกหัดปฏิบัติสมาธิภาวนาในสมัยที่ยังไม่มีโบสถ์ใหม่ 

โบสถ์ใหม่ตั้งอยู่บริเวณใกล้ๆกัน มีลักษณะเป็นศิลปะผสมระหว่างสมัยสุโขทัยและอยุธยา ซึ่งมีความสวยงามมาก ปัจจุบันจะหาชมโบสถ์ที่มีศิลปะแบบผสมนี้ได้ยาก

พระประธานภายในอุโบสถ พระพักตร์มีรอยยิ้มดูอ่อนโยน เมตตา พระเนตรทอดต่ำ เหมือนกับจะก้มลงมองดูพุทธศาสนิกชนที่มากราบนมัสการท่าน 

ผู้ที่มาสวดมนต์บำเพ็ญเพียรภาวนาที่โบสถ์นี้ประจำทุกค่ำเช้ามักจะพูดกันว่า พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์นี้เวลากลางคืนมองดูแล้วเสมือนหนึ่งท่านหลับพระเนตรลง และในตอนเช้า-กลางวันจะมองเห็นท่านเบิกพระเนตรขึ้น และบางคนก็ว่า ถ้าปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ตั้งใจภาวนาจะมองเห็นท่านเบิกพระเนตรขึ้นมองดู

ที่อยู่ : วัดทิพย์รัฐนิมิตร ตำบล บ้านเลื่อม อำเภอเมืองอุดรธานี อุดรธานี 41000

พิกัด : https://goo.gl/maps/GmYe1gjVHbgtxeCs8

เปิดให้เข้าชม : ทุกวัน 08:30 – 16:30 น.

โทร : สำนักงานอุดรธานี โทร. 0 4232 5406-7

วัดมัชฌิมาวาส หลวงพ่อนาค พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง

วัดมัชฌิมาวาส หลวงพ่อนาค

วัดมัชฌิมาวาส หลวงพ่อนาค อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี 

วัดมัชฌิมาวาส ได้ขึ้นชื่อว่าเป็น วัดคู่บ้านคู่เมืองอุดรธานี ชาวบ้านจัดให้มีการทำบุญสรงน้ำในเทศกาลสงกรานต์ และงานบุญบั้งไฟประจำทุกปี เป็นประเพณีสืบมา 

วัดมัชฌิมาวาส พระอารามหลวง ตั้งอยู่ที่ตำบลหมากแข้ง ชาวบ้านนิยมเรียกว่า วัดเดิม หรือ วัดเก่า ภายในวัดมีวิหารเล็กๆ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปหินสีขาวปางนาคปรก หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่อนาค” เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง อุดรธานี

ก่อนจะมาเป็นวัดมัชฌิมาวาสนั้นเป็นวัดร้างมาก่อน ชื่อว่าวัดโนนหมากแข้ง โดยมีหลักฐานที่ช่วยให้ระบุได้ว่าที่แห่งนี้เคยเป็นวัดร้างมีอยู่ 2 อย่าง คือ เจดีย์ศิลาแลงตั้งอยู่บนเนิน (ภาษาอีสานเรียก โนน) คร่อมตอของต้นหมากแข้ง และมีพระพุทธรูปหินขาวปางนาคปรกอยู่ภายในเจดีย์ ซึ่งคือหลวงปู่นาคในปัจจุบัน

ปัจจุบันพระพุทธรูปหินขาวปางนาคปรกก็ได้นำมาประดิษฐานไว้ที่หน้าพระอุโบสถให้ชาวอุดรฯ และจังหวัดใกล้เคียงได้สักการะบูชากันมาจนถึงทุกวันนี้ และกลายเป็นพระพุทธรูปที่ขึ้นชื่อในเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์คู่วัดมัชฌิมาวาสตลอดมา

หลวงพ่อนาค พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง

ในรัชกาลที่ 5 ราวพ.ศ. 2436-2437 พลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม สมัยดำรงตำแหน่งเป็นข้าหลวงใหญ่ผู้สำเร็จราชการหัวเมืองลาวพวน ได้ทรงสร้าง วัดโนนหมากแข้ง (เคยเป็นวัดร้าง) แล้วมีภิกษุจำพรรษาอีกครั้ง แล้วอันเชิญ หลวงพ่อนาค ประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น วัดมัชฌิมาวาส เมื่อราว พ.ศ. 2436 พร้อมกับการสร้างเมืองอุดรธานีขึ้น 

ต่อมาในพ.ศ. 2494 พระเทพวิสุทธาจารย์ เจ้าอาวาสได้ปฏิสังขรณ์พระอุโบสถใหม่ พร้อมกับบูรณะหลวงพ่อนาค โดยหุ้มพระพุทธรูปองค์เก่าไว้ภายในหลวงพ่อนาคเป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก ทำจากหินขาวเป็นท่อนนำมาประกอบกันเป็นองค์พระประดิษฐาน อยู่หน้าพระอุโบสถ หลังจากบูรณะแล้ว ชาวอุดรที่เคารพศรัทธาสามารถนำทองคำเปลวปิดถวายได้เพื่อเป็นการสักการะบูชา 

ที่อยู่ : วัดมัชฌิมาวาส ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมืองอุดรธานี อุดรธานี 41000 ประเทศไทย

พิกัด : https://goo.gl/maps/w3wRLTUDmfvSNjmd8

เปิดให้เข้าชม : ทุกวัน 06:00 – 17:00 น.

โทร : สำนักงานอุดรธานี โทร. 0 4232 5406-7

วัดโพธิสมภรณ์

วัดโพธิสมภรณ์ อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี 

วัดโพธิสมภรณ์ ตั้งอยู่ถนนเพาะนิยม ตำบลหมากแข้ง เป็นอีกหนึ่งวัดที่มีความสำคัญของจังหวัดอุดรธานี เริ่มก่อสร้างในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ช่วงปลายรัชกาลที่ 5 โดยมหาอำมาตย์ตรีพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (โพธิ์ เนติโพธิ์) สมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดร ได้ชักชวนราษฎรบ้านหมากแข้งมาช่วยกันสร้างวัด ชาวบ้านนิยมเรียกว่า “วัดใหม่”

ต่อมาพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 11 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงประทานนามว่า “วัดโพธิสมภรณ์” ให้เป็นอนุสรณ์แก่พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตรผู้สร้างวัดนี้ 

และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ วัดโพธิสมภรณ์ เป็น พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ภายในวัดยังมีสถานที่ น่าสนใจต่างๆ อาทิ เช่น พระบรมธาคุธรรมเจดีย์ พระเจดีย์พิพิธภัณธ์ ศาลามงคลธรรม ฯลฯ

5 ปูชนียวัตถุที่สำคัญภายในวัดโพธิสมภรณ์ ได้แก่ 

  • พระพุทธรัศมี พระประธานในพระอุโบสถของวัด เป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ ปางมารวิชัย อายุประมาณ 600 ปี 
  • พระพุทธรูปศิลาแลงศิลปะสมัยลพบุรี ปางประทานพร อายุประมาณ 1,300 ปี ประดิษฐานอยู่ที่ซุ้มผนังพระอุโบสถด้านหลัง 
  • ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งได้หน่อมาจากรัฐบาลประเทศศรีลังกาที่มอบแก่รัฐบาลไทยเมื่อ พ.ศ. 2493 และนำมาปลูกไว้ด้านทิศเหนือของพระอุโบสถ 
  • รอยพระพุทธบาทจำลอง สร้างด้วยศิลาแลง มีอายุกว่า 200 ปี ประดิษฐานอยู่ในมณฑปด้านทิศเหนือพระอุโบสถ 
  • พระบรมธาตุธรรมเจดีย์ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2548 เป็นเจดีย์พิพิธภัณฑ์ มี 3 ชั้น ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธรูป พระไตรปิฎก คติธรรมคำสอน อัฐิธาตุพระอรหันตสาวก และรูปเหมือนพระบูรพาจารย์

ที่อยู่ : วัดโพธิสมภรณ์ ตำบล บ้านเลื่อม อำเภอ เมืองอุดรธานี อุดรธานี 41000

พิกัด : https://goo.gl/maps/qaxtSk7HxYWFm4vTA

เปิดให้เข้าชม : ทุกวัน 08:00 – 16:00 น.

โทร : วัดโพธิสมภรณ์ 0 4234 7146

เป็นยังไงกันบ้างคะ สำหรับ  9 วัด ในจังหวัดอุดรธานี บอกเลยว่าได้กลับบ้านกันแบบอิ่มบุญอีกแน่นอน

แต่วัดในจังหวัดอุดรไม่ได้มีแค่นี้นะคะ ใครที่ชอบเข้าวัด ทำบุญ ก็ติดตามบทความของพวกเราไว้เลยนะคะ เพราะเรารวบรวมข้อมูลทั้งวัด สถานที่ท่องเที่ยว และร้านอาหารเด็ดๆทั่วทั้งจังหวัดอุดรไว้แล้วค่ะ 

หากชอบบทความของพวกเรา ฝากติดตามพวกเราได้ที่ Facebook : เที่ยวคำชะโนด


บทความที่เกี่ยวข้อง

ขอบคุณข้อมูลจาก