ความเชื่อ แรงศรัทธาเรื่องพญานาค

ความเชื่อ

ความเชื่อ แรงศรัทธา “พญานาค” ของคนไทย

ความเชื่อ เรื่องพญานาคในสังคมไทยอยู่คู่กันมาช้านาน บ้างก็ว่า “พญานาค” มีมาตั้งแต่ก่อนพุทธกาล อย่างที่ทราบกันดีว่าสัตว์กึ่งเทพตนนี้ ผูกพันและข้องเกี่ยวกับศาสนามาเสมอ ดั่งเรื่องราวที่เด่นแจ้งในพุทธชาดก สะท้อนผ่านประเพณี ขนบธรรมเนียม ความเชื่อ ต่างๆ รวมไปถึงจิตรกรรมฝาผนังและงานศิลปะตามวัดต่างๆ ที่มักจะมีการปรากฏตัวของพญานาคอยู่ในเรื่องเล่าเหล่านั้น

หากมองในแง่ความเป็นจริงตามหลักวิทยาศาสตร์ ปัจจุบันยังคงไม่มีอะไรชี้ชัดว่า “พญานาค” มีอยู่จริงหรือไม่มีจริง ความเชื่อ และชุดข้อมูลต่างๆ มักถูกบอกเล่าผ่านผู้นำในสังคมนั้นๆ เป็นความเชื่อแบบปากต่อปาก เล่าสู่กันฟัง จนนำไปสู่ “แรงศรัทธาที่ยิ่งใหญ่”

ความเชื่อ แรงศรัทธา “พญานาค” ของคนไทย

ในมิติศาสนาพุทธ

ความเชื่อ เรื่องพญานาคแทรกซึมอยู่ในทุกบริบทของสังคมไทย ขึ้นชื่อว่าเป็นสังคมเมืองพุทธ เรื่องราวและเรื่องเล่าต่างๆ มักมีพญานาคเป็นหนึ่งในตัวละครสำคัญ ที่เป็นตัวแทนของ “ศาสนิกชนที่ดี” เปี่ยมด้วยความเลื่อมใสและศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทั้งยังมีเรื่องของงานประเพณี นิทานพื้นบ้าน ขนบธรรมเนียมบางอย่างที่ผูกพันกับงูใหญ่ผู้มีอิทธิฤทธิ์

พญานาคเป็นตัวแทนของความยิ่งใหญ่ ความอุดมสมบูรณ์และเปี่ยมไปด้วยวาสนา คนไทยเชื่อว่านาคเป็น “สัตว์กึ่งเทพ” สามารถแปลงกายเป็นมนุษย์และสัตว์อื่นๆ ได้ ที่สำคัญเต็มยังไปด้วยฤทธิ์เดชต่างๆ มากมาย ให้ทั้งคุณและโทษ หลายคนจึงนิยมบูชาพญานาค เพื่อหวังเรื่องโชคลาภ การคุ้มครองให้ปลอดภัย รวมถึงเรื่องอื่นๆ

ความเชื่อ ในเรื่องพญานาค หรือ นาคราช ปรากฏทั้งในอินเดีย ไทย และทั่วไปในดินแดนอุษาคเนย์ หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับศาสนาคือ พราหมณ์-ฮินดูและศาสนาพุทธ ความเชื่อเรื่องนาคของแต่ละศาสนาเป็นอย่างไร และนาคในความเชื่อของไทย มีที่มาจากไหน มาติดตามหาความเชื่อนี้ด้วยกัน

ศาสนาฮินดูเชื่อว่า “พญานาค” เป็นเทพเจ้าแห่งน้ำ ใกล้ชิดกับเทพองค์

พรามหณ์-ฮินดู

นาค ตามความเชื่อของพราหมณ์-ฮินดู เป็นสิ่งมีชีวิตกึ่งเทพ มีพลังอำนาจวิเศษ รูปลักษณะของนาคเป็นมนุษย์กึ่งมนุษย์กึ่งนาค หรือเป็นลักษณะนาคทั้งหมด นาคอาศัยอยู่ในโลกบาดาล ซึ่งเต็มไปด้วยอัญมณี ทองคำ และสมบัติทางโลกอื่น ๆ นาคมีความเกี่ยวพันกับน้ำ เช่น แม่น้ำ ทะเลสาบ ทะเล หรือแม้แต่บ่อน้ำ และถือว่าเป็นผู้พิทักษ์สมบัติ และในตำนานฮินดู นาค ซึ่งประทับรอบพระศอของพระศิวะได้มาเป็นเชือกสำหรับการกวนน้ำในเกษียรสมุทร

พระวิษณุนั้นดั้งเดิมแล้วมีการสร้างรูปเคารพในรูปลักษณะที่ทรงมีนาคเศษะประทับปกคลุม หรือประทับนอนบนนาคเศษะ แต่ประติมานวิทยานี้ในเทพองค์อื่น ๆ ก็ปรากฏเช่นกัน อาทิในพระคเณศซึ่งปรากฏนาคในหลายลักษณะ ทั้งประทับคล้องพระศอของพระคเณศ ใช้เป็นด้ายศักดิ์สิทธิ์ ประทับคล้องพระวรกายของพระคเณศ หรือเป็นบัลลังก์ให้พระคเณศประทับ ส่วนพระศิวะมักปรากฏในรูปเคารพพร้อมนาคในลักษณะคล้ายมาลัยเช่นกัน

ศาสนาพุทธ

นาคในศาสนาพุทธ ปรากฏในรูปของงูขนาดใหญ่ บางตนมีพลังวิเศษแปลงกายเป็นรูปมนุษย์ได้ เชื่อว่านาคอาศัยในบาดาล เช่นเดียวกันกับเทวดาบางส่วน และอาศัยในส่วนต่าง ๆ ของโลกมนุษย์ บางส่วนอาศัยในน้ำ เช่นลำธาร แม่น้ำ ทะเล มหาสมุทร และบางส่วนอาศัยบนบกเช่นในถ้ำ

นาคเป็นบริวารของท้าววิรูปักษ์ หนึ่งในโลกบาลผู้พิทักษ์ทิศตะวันตก นาคต่าง ๆ ทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์บนเขาพระสุเมรุ เพื่อปกป้องชั้นดาวดึงส์จากอสูร

พญานาคกับพระพุทธรูปปางนาคปรก

พระพุทธรูปปางนาคปรก” พระประจำคนเกิดวันเสาร์ ที่หลายคนรู้จักกันดีก็มาจากเหตุการณ์ที่ “พญานาคมุจลินท์” ขดตัวล้อมรอบพระสมณโคดม (พระพุทธเจ้า) เป็นชั้นๆ เจ็ดรอบ และแผ่พังพานขนาดใหญ่ปกป้องไม่ให้ร่างกายของพระพุทธเจ้าถูกลมฝนกระหน่ำตลอด 7 วันที่มีพายุเข้า

ตลอดจนคอยกันไม่ให้แมลงและสัตว์เลื้อยคลาน รบกวนการบำเพ็ญเพียรของพระสมณโคดม และเมื่อพายุฝนผ่านไป การบำเพ็ญภาวนาสิ้นสุด พญานาคมุจลินท์ได้แปลงกายเป็นชายหนุ่มรูปงาม เพื่อถวายนมัสการแด่พระพุทธเจ้า

จากเรื่องราวที่เต็มไปด้วยความมุมานะนี้ ทำให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย พากันเห็นถึงความเลื่อมใสและศรัทธาอันแรงกล้าของพญานาคที่มีต่อศาสนา จึงเกิดเป็นแรงบันดาลใจสำคัญ หล่อพระพุทธรูปปางนาคปรกขึ้นมาอย่างแพร่หลายนั่นเอง

พญานาค” กับการบวชเป็นพระภิกษุ

ครั้งหนึ่งในสมัยพุทธกาล มีพญานาคตนหนึ่งที่มีใจเลื่อมใสและฝักใฝ่ในพุทธศาสนาเอามากๆ จนยอมละทิ้งทุกอย่างในเมืองบาดาล ก่อนแปลงกายเป็นมนุษย์เพื่อขึ้นมาบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ แต่ด้วยดวงตาอันแหลมคมของพระพุทธเจ้า ซึ่งเห็นถึงความจริงทั้งหมดว่าบุคคลตรงหน้านี้ หาใช่มนุษย์จริงๆ

สุดท้ายด้วยกฏใดต่างๆ พญานาคองค์นั้นก็ไม่สามารถบวชเป็นพระได้ดั่งที่ตั้งใจ แต่ด้วยจิตใจที่แน่วแน่ในพระธรรม นาคองค์นั้นได้ขอให้พระพุทธเจ้า เรียกคนที่กำลังจะบวชว่า “นาค” เพื่อระลึกถึงพญานาคที่บวชไม่ได้นั่นเอง

ประเพณีการทำขวัญนาค ขานนาค หรือบวชนาค จึงมีที่มาจากเรื่องเล่าดังกล่าวนี้ รวมถึงการ “ขานนาค” ทุกครั้งก่อนบวช จำต้องมีบทสวดถามถึงคนที่ขอบวชเป็นภาษาบาลีว่า “มนุสฺโสสิ” ซึ่งหมายความว่า เป็นมนุษย์หรือไม่

พญานาค” กับประเพณีบุญบั้งไฟ

หนึ่งในสิ่งที่ทำให้หลายคนเชื่อว่า “พญานาค” มีอยู่จริง คือแสงไฟที่ลอยตัวขึ้นมาที่ริมน้ำโขง ในทุกๆ วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ของทุกปี โดยดวงไฟกลมๆ ที่ลอยขึ้นมาเหนือน้ำนั้น เชื่อว่าเป็นการแสดงอิทธิฤทธิ์ของพญานาคจากเมืองบาดาล เพื่อเฉลิมฉลองการเสด็จกลับจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

จนเกิดเป็นเทศกาลงานประเพณีสุดคึกคักในจังหวัดแถบอีสาน ฝั่งลุ่มแม่น้ำโขง ทุกๆ ปีจะมีประเพณีบุญบั้งไฟเพื่อบูชาพญานาค ตลอดจนเป็นพิธีกรรมขอฝนไปในตัว แต่ละพื้นที่จะมีพิธีกรรมทางวัฒนธรรมแตกต่างกันไป และที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือการบูมแบบปังๆ ของ “คำชะโนด” ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของพญานาค เชื่อว่าเป็นที่สิงสถิตของ พญานาคปู่ศรีสุทโธ

นาค ของไทย

ในความเชื่อของวัฒนธรรมร่วมไทย-ลาว มีการนับถือนาคในลักษณะเป็นเทพแห่งน้ำ และมีความเชื่อว่าในแม่น้ำโขงนั้นมีนาคอาศัยอยู่ ตามตำนาน สัตว์จำพวกงู, แมงป่อง, ตะขาบ, คางคก มีพิษจากพิษที่นาคได้คายทิ้งไว้ นอกจากนี้ในความเชื่อของไทยได้เชื่อมโยงกับศาสนาพุทธในเรื่องกำเนิดของพญานาคที่มีหลายลักษณะ ซึ่งตามที่ปรากฏในแนวทางของพระพุทธศาสนา มี 4 ลักษณะ

คือ แบบโอปปาติกะ เกิดแล้วโตทันที แบบสังเสทชะ เกิดจากเหงื่อไคล สิ่งหมักมม แบบชลาพุชะ เกิดจากครรภ์ และแบบอัณฑชะ เกิดจากฟองไข่ และ ตระกูลของนาคแบ่ง ออกเป็น 4 ตระกูลใหญ่ คือ ตระกูลวิรูปักษ์ พญานาคตระกูลสีทอง ตระกูลเอราปถ พญานาคตระกูลสีเขียว ตระกูลฉัพพยาปุตตะ พญานาคตระกูลสีรุ้ง ตระกูลกัณหาโคตรมะ พญานาคตระกูลสีดำ

นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อกันว่า แม่น้ำโขงเกิดจากการไถลตัวของพญานาค 2 ตน จึงเกิดเป็นแม่น้ำโขงและแม่น้ำน่าน และยังมีตำนานกล่าวถึงบั้งไฟพญานาค ว่าในวันออกพรรษาหรือเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พญานาคแม่น้ำโขงต่างชื่นชมยินดี จึงทำบั้งไฟถวายการเสด็จกลับของพระพุทธเจ้าจนกลายเป็นประเพณีทุกปี

​นาคในความเชื่อของไทยอยู่ในฐานะเทพแห่งน้ำ เพราะนาคเป็นสัญลักษณ์ของน้ำ จึงปรากฏความเชื่อเรื่องนาคที่เกี่ยวกับน้ำ เช่น ในตำนานสิงหนวัติ กล่าวว่า กล่าวถึงพญานาคแปลงกายมาช่วยชี้ที่ตั้งเมืองใหม่ พอตกกลางคืนก็ขึ้นมาสร้างคูเมือง 4 ด้าน เป็น เมืองนาคพันธุ์สิงหนวัติ ต่อมาเมื่อยกทัพปราบเมืองอื่นได้ และรวมดินแดนเข้าด้วยกัน จึงเปลี่ยนชื่อเป็น แคว้นโยนกนาคราช นอกจากนี้ยังปรากฏความเชื่อเรื่องนาคในคำเสี่ยงทายปริมาณของน้ำและฝนที่จะตกในแต่ละปี เรียกว่า “นาคให้น้ำ” จะปรากฏเห็นได้ชัดที่สุดในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในวันพืชมงคลของแต่ละปี

นอกจากที่ปรากฏในตำนานแล้ว นาคในงานศิลปะในประติมากรรมไทยและลาว มักจะเห็นสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับนาคได้เสมอ เช่นที่พบในการสร้าง นาคสะดุ้ง ที่ทอดลำตัวยาวตามบันได, นาคลำยอง ซึ่งเป็นป้านลมหลังคาโบสถ์ ที่ต่อเชื่อมกับนาคสะดุ้ง, นาคเบือน, นาคจำลอง และนาคทันต์ หรือคันทวยรูปพญานาค และแม้แต่ในโขนเรือ (หัวเรือ) ของเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ ในขบวนเรือกระบวนพยุหยาตราชลมารค เป็นต้น

ตามรอยความเชื่อแห่งความศรัทธาต่อตำนานพญานาค ที่เป็นทั้งสถานที่ท่องเที่ยวและมีความศักดิ์สิทธิ์ ที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมากราบไหว้เพื่อเสริมมงคลให้กับชีวิต 3 แห่ง คือ

คำชะโนด

คำชะโนด จังหวัดอุดรธานี

คำชะโนด สถานที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวบ้านในจังหวัดอุดรธานีและใกล้เคียง เชื่อกันว่าเป็นที่อยู่ของพญานาคและเป็นทางเชื่อมต่อเมืองบาดาล ปกครองรักษาโดย “พญานาคราชปู่ศรีสุทโธ” และ “องค์แม่ศรีปทุมมานาคราชเทวี” และปกคลุมด้วยผืนป่าคำชะโนดขนาดใหญ่อยู่ทั่วบริเวณ มี “บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์” ที่ชาวบ้านมักจะมาตักน้ำกลับไปสักการะ เพราะเชื่อว่าเป็นสิริมงคลกับชีวิต

ที่ตั้ง : วัดศิริสุทโธ (คำชะโนด) อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี

พญาศรีสัตตนาคราช จังหวัดนครพนม

องค์พญาศรีสัตตนาคราช รูปปั้นพญานาคขดหาง มี 7 เศียร พ่นน้ำได้ หล่อด้วยทองเหลือง ขนาดความกว้างรวมหาง 4.49 เมตร สูง 10.90 เมตร มีความสูงจากฐาน 16.29 เมตร เศียรพญานาคหันไปทางทิศเหนือ หางชี้ไปทางแม่น้ำโขง ทุกวันในเวลาพลบค่ำจะมีการเปิดไฟประดับรอบองค์พญาศรีสัตตนาคราช และบริเวณใกล้กันคือลานพนมนาคา เป็นลานคอนกรีตกว้างโล่งเหมาะกับการชมทัศนียภาพของแม่น้ำโขง

ที่ตั้ง : ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม

ศาลปู่พญานาคราช จังหวัดมุกดาหาร

ศาลปู่พญานาคราช จังหวัดมุกดาหาร

ศาลปู่พญานาคราช ที่ตั้งอยู่บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 (มุกดาหาร-สะหวันเขต) สร้างเพื่อบวงสรวงองค์พญานาคในช่วงที่กำลังก่อสร้างสะพานแห่งนี้ โดยมีลักษณะเป็นรูปปั้นพญานาคขนาดใหญ่พันรอบเสา หันหน้าออกสู่แม่น้ำโขง อีกทั้งใกล้ ๆ กันยังเป็นรูปปั้น ย่านาคน้อย รวมไปถึงรูปปั้นพญานาคพ่นน้ำอีกด้วย ซึ่งผู้คนนิยมเดินทางมาสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลและขอให้ปลอดภัยจากอันตรายทั้งปวง

ที่ตั้ง : บ้านสงเปือย ตำบลบางทรายใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร

สรุป

3 สถานที่ตามรอยพญานาคที่แนะนำนี้เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น ความเชื่อเรื่อง พญานาค เป็นความเชื่อส่วนบุคคล ใครที่ไปสักการบูชาแล้วสบายใจ ก็ลองไปตามรอยสักการะขอพรกันได้ แต่ถึงอย่างไรสุดท้ายชีวิตจะเป็นไปในทิศทางใด ก็ขึ้นอยู่กับตัวเรา

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *