ตำนานความเชื่อ ความศรัทธา วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ประเพณี วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับพญานาคที่มีความคล้ายคลึงกัน ใน 5 จังหวัดภาคอีสาน คือ จังหวัดนครพนม จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย และจังหวัดอุดรธานี
วันนี้ khamchanod.com จึงขอแนะนำเส้นทางท่องเที่ยว “11 พิกัด ไหว้พญานาค ตามรอยความเชื่อความศรัทธาพญานาค แห่งลุ่มแม่น้ำโขง” โดยเส้นทางท่องเที่ยวนี้ จะเริ่มต้นตั้งแต่ทางทิศเหนือของแม่น้ำโขง ที่จังหวัดหนองคาย เรื่อยลงมาที่จังหวัดอุดรธานี จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดนครพนม และจังหวัดมุกดาหาร
คำชะโนด หรือ วัดศิริสุทโธ อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี
เส้นทางท่องเที่ยว ไหว้พญานาค 5 จังหวัดอีสาน
สารบัญ
จังหวัดหนองคาย
- วัดโพธิ์ชัย (หลวงพ่อพระใส)
- พระธาตุหล้าหนอง (พระธาตุกลางน้ำ)
- พระธาตุบังพวน (สระมุจลินท์ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์)
จังหวัดอุดรธานี
จังหวัดบึงกาฬ
จังหวัดนครพนม
- วัดมหาธาตุ (พระธาตุนคร พระธาตุประจำวันเกิดของคนเกิดวันเสาร์)
- ลานพญาศรีสัตตนาคราช
- วัดพระธาตุพนม (พระธาตุปีเกิดของคนเกิดปีวอก และเป็นพระธาตุประจำวันเกิดของผู้เกิดวันอาทิตย์)
จังหวัดมุกดาหาร
วัดโพธิ์ชัย หลวงพ่อพระใส จังหวัดหนองคาย
วัดโพธิ์ชัย หลวงพ่อพระใส จังหวัดหนองคาย
วัดโพธิ์ชัย เป็นพระอารามหลวง ที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อพระใส” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ คู่บ้านคู่เมืองของชาวหนองคาย วัดโพธิ์ชัยตั้งอยู่บนถนนโพธิ์ชัย แต่เดิมชื่อ วัดผีผิว เนื่องจากเคยใช้เป็นสถานที่ฌาปนกิจ ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดโพธิ์ชัย และยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวง ปัจจุบันวัดโพธิ์ชัยเป็นที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อพระใส” เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ คู่บ้านคู่เมืองของชาวหนองคาย
หลวงพ่อพระใส พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวหนองคาย
หลวงพ่อพระใส พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวหนองคาย
“หลวงพ่อพระใส” พระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสีสุก มีพุทธลักษณะงดงาม เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวหนองคาย
ตำนานเล่าว่า พระธิดา 3 พระองค์ของกษัตริย์ล้านช้างได้หล่อพระพุทธรูปขึ้น 3 องค์ และถวายนามพระพุทธรูปตามพระนามของแต่ละพระองค์ คือ
- พระเสริม เป็นพระประจำพระธิดาองค์ใหญ่
- พระสุก ประจำพระธิดาองค์กลาง
- พระใส ประจำพระธิดาองค์เล็ก
แต่เดิมพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ ประดิษฐานอยู่ที่นครเวียงจันทน์ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้อัญเชิญพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ ลงเรือข้ามฝั่งแม่น้ำโขงมายังเมืองหนองคาย แต่เกิดพายุพัดแรงจน “พระสุก” ตกน้ำจมหายไป ส่วน “พระเสริม” และ “พระใส” ได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่วัดโพธิ์ชัย จังหวัดหนองคาย จนถึงในสมัยรัชกาลที่ 4 จึงได้อัญเชิญ “พระเสริม” ไปประดิษฐานที่วัดปทุมวนาราม กรุงเทพมหานคร
ในช่วงวันสงกรานต์ของทุกปี ชาวเมืองหนองคายจะมีงานประเพณีบุญสงกรานต์ และอัญเชิญหลวงพ่อพระใสมาให้ประชาชนทั้งไทยและลาว ได้สรงน้ำบูชาพระใส ณ วัดโพธิ์ชัย
ขอบคุณรูปภาพจาก วัดโพธิ์ชัย พระอารามหลวง จังหวัดหนองคาย
ที่อยู่ : วัดโพธิ์ชัย ตำบลในเมือง อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย
พิกัด : https://goo.gl/maps/KySS1jeKZodqdpam6
เปิดให้เข้าชม : ทุกวัน 07:00น.–18:00น.
พระธาตุหล้าหนอง (พระธาตุกลางน้ำ) จังหวัดหนองคาย
พระธาตุหล้าหนอง (จำลอง) จังหวัดหนองคาย
พระธาตุหล้าหนอง หรือ พระธาตุกลางน้ำ ตั้งอยู่ตำบลหาดคำ เมื่อ พ.ศ. 2390 องค์พระธาตุ ถูกน้ำกัดเซาะพังทลายลงสู่แม่น้ำโขงห่างจากฝั่งประมาณ 200 เมตร ภายในองค์พระธาตุประดิษฐานพระบรมธาตุฝ่าพระบาท จำนวน 9 พระองค์
ตามตำนานอุรังคธาตุ (พระธาตุพนม) จากการสำรวจใต้น้ำของหน่วยโบราณคดีภาค 7 พบว่า องค์พระธาตุมีฐานกว้างด้านละ 17.2 เมตร ย่อมุมที่ฐาน และมีความสูง 28.5 เมตร หักออกเป็น 3 ท่อน สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 20- 22 เนื่องจากมีรูปร่างคล้ายพระธาตุบังพวน ปัจจุบันได้มีการสร้างพระธาตุหล้าหนองจำลองขึ้นในบริเวณใกล้กัน เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้รำลึกถึงความสัมพันธ์ของประชาชนสองฝั่งโขงที่สืบทอดมายาวนาน
พระธาตุกลางน้ำ
พระธาตุกลางน้ำ เดิมชื่อพระธาตุหล้าหนอง เป็นพระธาตุที่หักพังอยู่กลางลำน้ำโขง
ปัจจุบันองค์พระธาตุจมอยู่กลางแม่น้ำโขงห่างจากฝั่งไทย 180 เมตร องค์พระธาตุก่อด้วยอิฐถือปูน ล้มตะแคงไปตามกระแสน้ำ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีฐานเหลี่ยมมุมฉาก โดยด้านหนึ่งโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำเพียงครึ่งฐาน องค์พระธาตุมีรูปทรงทางสถาปัตยกรรมเท่าที่ยังเหลืออยู่เป็นชั้นฐานเขียง 2 ชั้น ฐานสี่เหลี่ยมย่อเก็จต่อขึ้นมาอีก 4 ชั้น จึงเป็นเรือนธาตุ ต่อด้วยบัวลูกแก้วอีก 2 ชั้น ความสูงของเจดีย์เฉพาะส่วนที่สัมผัสได้ 12.20 เมตร ความกว้างของฐานองค์พระธาตุชั้นล่างสุด 15.80 เมตร
ที่อยู่ : พระธาตุหล้าหนอง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย
พิกัด : https://goo.gl/maps/NkHM6RGynTFwzCmw8
เปิดให้เข้าชม : ทุกวัน 06:00 น. – 18:00 น.
ไหว้พญานาค ณ พระธาตุบังพวน จังหวัดหนองคาย
พระธาตุบังพวน จังหวัดหนองคาย
พระธาตุบังพวน ตั้งอยู่บ้านดอนหมู ตำบลพระธาตุบังพวน เป็นวัดเก่าแก่ที่บรรจุ พระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งองค์พระธาตุเดิมสร้างด้วยอิฐเผาและได้พังทลายลงเมื่อ พ.ศ. 2513 ด้วยภัยธรรมชาติ และได้ดำเนินการซ่อมแซมโดยกรมศิลปากร ต่อมาสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก (วาส มหาเถระ) ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากพระธาตุพนม มาประดิษฐานไว้เพิ่มเติมในพระเจดีย์องค์ใหม่ด้วย
วัดพระธาตุบางพวน จ.หนองคาย เป็นวัดสำคัญอีกวัดหนึ่งที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจให้ชาวจังหวัดหนองคายมาช้านาน ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย เช่น พระธาตุบางพวน เจดีย์หลักของวัด การก่อสร้างไม่ชัดเจน แต่มีตำนานมากมายเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่กล่าวถึงพระธาตุบางพวนนี้ ชาวบ้านเชื่อว่าเจดีย์นี้เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า นอกจากนี้ทางวัดยังจัดงานฉลองพระสถูปในวันที่ 15 ค่ำเดือน 3 ของทุกปี
สระมุจลินท์ (บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์)
สระมุจลินท์ (บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์) ที่มีรูปปั้นพญานาค 7 เศียรอยู่ตรงกลางสระ
ภายในวัดยังมีโบราณสถานที่สำคัญอีกแห่งคือ สัตตมหาสถาน ซึ่งเป็นสถานที่เดียวในโลกที่มีซากโบราณสถานทั้ง 7 แห่ง และมี สระมุจลินท์ (บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์) ที่มี รูปปั้นพญานาค 7 เศียร อยู่ตรงกลางสระ
ตามตำนานเล่าว่า มีปรากฏการณ์ประหลาดเกิดขึ้นหลังจากบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ น้ำที่แผ่ออกมาจากพื้นดิน ชาวบ้านเชื่อว่าบริเวณนี้เป็นภูเขาพญานาคที่ปกป้องพระธาตุบางพวน จึงสร้างสระนี้ให้เป็นสระศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัด นำน้ำจากสระไปใช้ในงานมงคลต่างๆ
>> “ตำนานเรื่องเล่า พญามุจลินทร์นาคราช” คลิกที่นี่ <<
ที่อยู่ : พระธาตุบังพวน ตำบลพระธาตุบังพวน อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย
พิกัด : https://goo.gl/maps/ox1AnkzCbzikdb1q6
เปิดให้เข้าชม : ทุกวัน 08:00 น. – 17:00 น.
ไหว้พญานาค ณ คำชะโนด วัดศิริสุทโธ
คำชะโนด หรือ วัดศิริสุทโธ อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี
คำชะโนด หรือ วัดศิริสุทโธ เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนเกาะที่มีชื่อว่า เกาะชะโนด ในทุ่งนาของตำบลบ้านม่วง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานีค่ะ
โดยสถานที่นี้มีความเชื่อตามตำนานพื้นบ้าน ว่าสถานที่แห่งนี้ เป็นประตูสู่เมืองบาดาล เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของพญานาค ปกครองรักษาโดยพญานาคราชปู่ศรีสุทโธ พญานาคผู้ยิ่งใหญ่แห่งลุ่มแม่น้ำโขง และองค์แม่ศรีปทุมมานาคราชเทวี หรือชื่อที่ชาวบ้านมักเรียกกันว่า “จ้าวปู่ศรีสุทโธ” และ “จ้าวย่าศรีปทุมมา”
ภายในเกาะคำชะโนดมีศาลเจ้าปู่ศรีสุทโธ และบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ บริเวณใจกลางของป่าคำชะโนด ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างเมืองบาดาลและเมืองมนุษย์ จึงเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านรวมไปถึงนักท่องเที่ยวต่างให้ความเคารพ ความเลื่อมใสศรัทธา และเดินทางมาสักการะกันไม่ขาดสาย
ความมหัศจรรย์ ของน้ำจากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ อยู่ที่ผู้มีความเชื่อความศรัทธาต้องการอยากให้เกิดพลังด้านใดก็ให้อธิษฐานนำไปใช้ตามนั้น มีหลายกลุ่มที่รวมตัวกันมาทำพิธีขอน้ำไปใช้เป็นยารักษาโรคและอื่นๆ บางคนก็อธิฐานไปเพื่อกิจการค้าขายและการเดินทาง ผลที่เขาได้รับก็เป็นตามความต้องการ
โดยผู้คนส่วนใหญ่มักเดินทางไปขอพรเรื่องความร่ำรวย ความอุดมสมบูรณ์ และขอโชคลาภ แอดมินเชื่อว่าเพื่อนๆควรมาสักครั้งเพื่อกราบไหว้บูชาและขอให้บุญบารมีท่านช่วยอำนวยพร
>> “เตรียมตัว ก่อนไปคำชะโนด และเคล็ดไม่ลับ” คลิกที่นี่ <<
ศาลเจ้าปู่ศรีสุทโธ และ แม่ย่าศรีปทุมมา
ศาลเจ้าปู่ศรีสุทโธ และ แม่ย่าศรีปทุมมา
ประวัติตำนานคำชะโนด เล่าขานกันมานานแล้วว่า แต่ก่อนหนองกระแส หรือหนองแส ซึ่งอยู่เหนือขึ้นไปในเขตลาว เป็นเมืองที่พญานาคครองอยู่โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน
ส่วน 1 เจ้าพ่อพญาศรีสุทโธนาค เป็นหัวหน้าครองอยู่ อีกส่วนหนึ่ง หัวหน้าผู้ครองอยู่ก็เป็นพญานาค เหมือนกัน มีชื่อว่า เจ้าพ่อพญาสุวรรณนาค มีบริวารอย่างละ 5000 เท่าๆกัน
พญานาคทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็ปกครองบริวารของแต่ละฝ่ายอยู่ด้วยกันอย่างมีความผาสุก มีความรักสามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีอาหารแบ่งกันกิน มีความช่วยเหลือเกื้อกูลต่อกัน และเป็นเพื่อนกันมาตลอด และมีข้อตกลงกันอยู่ข้อหนึ่งว่า
ถ้าฝ่ายใดออกไปล่าหาเนื้อ หาอาหาร อีกฝ่ายหนึ่งจะต้องไม่ออกไป เพราะเกรงว่าหากต่างฝ่ายต่างออกไปล่าอาหารทั้ง 2 ฝ่าย อาจจะเกิดการกระทบกระทั่งแย่งอาหารกัน อาจจะเกิดการทะเลาะวิวารรบรากันได้
>> ประวัติ ตำนานคำชะโนด ที่กล่าวขานกันมาช้านาน คลิกที่นี่ <<
บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์คำชะโนด
บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์คำชะโนด
บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์คำชะโนด คือบ่อน้ำผุดธรรมชาติซึมซับอยู่ตลอดเวลาไม่เหือดแห้งเสมอต้นเสมอปลาย อันเนื่องมาจากพลังอำนาจบุญบารมีขององค์ปู่พญาศรีสุทโธและความอุดมสมบูรณ์ จากคำบอกเล่า ของพ่ออุทัย ไพเราะ และผู้รู้ท่านอื่นๆ รวมถึงชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงคำชะโนด
ได้มีการเชื่อมต่อจาก ทางสายญาณบารมีจากนิมิตเป็นที่น่าอัศจรรย์ ซึ่งอยู่ที่เมืองชำโนดเป็นประตูขึ้นลงระหว่างเมืองบาดาล และเมืองมนุษย์โลก ที่พระอินทร์ทรงประทานพรใช้องค์ปู่พญาศรีสุทโธ หลังจากที่ได้รับชัยชนะในการสร้างแม่น้ำแข่งขันกับองค์ปู่สุวรรณนาค และได้ทรงมอบเมืองพรหมประกายโลก ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของพรหม
ที่กลายร่างเป็นเทพบังบดให้องค์ปู่พญาศรีสุทโธครอบครอง พร้อมกับประทานพรให้
1) เป็นทางขึ้น-ลง เมืองบาดาลและมนุษย์โลก
2) ต้นชะโนด ไม้คู่บารมี ให้เกิดรวมอยู่ที่เกาะแห่งนี้
3) บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ จากเมืองสวรรค์
>> “บันทึกเรื่อง บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์คำชะโนด” คลิกที่นี่ <<
ที่อยู่ : วัดศิริสุทโธ ตำบล บ้านม่วง อำเภอ บ้านดุง อุดรธานี 41190
พิกัด : https://goo.gl/maps/MCKQDr3eg5BXxHCW8
เปิดให้เข้าชม : ทุกวัน 06.00-18.00 น.
เว็บไซต์ : https://khamchanod.com
ถ้ำนาคา เจ้าปู่อือลือนาคราช จังหวัดบึงกาฬ
ถ้ำนาคา อุทยานแห่งชาติภูลังกา จังหวัดบึงกาฬ
ถ้ำนาคา เป็นถ้ำที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ อุทยานแห่งชาติภูลังกา อำเภอบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ รอยต่อระหว่างจังหวัดบึงกาฬ – นครพนม
จุดเด่นของถ้ำนาคา คือ หิน ที่มีรูปร่างคล้ายพญานาคหรืองูยักษ์ มีลักษณะเหมือนเกล็ดงูขนาดใหญ่ ซึ่งในทางธรณีวิทยา เกิดจากหินบนพื้นผิวโลกผ่านการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิร้อน – เย็นสลับกัน กระบวนการทางกายภาพเกิดการผุพัง ปริแตกตามพื้นผิวโดยรอบหิน เรียกว่า ซันแครก (sun crack)
พลังศรัทธา เจ้าปู่อือลือนาคราช
ถ้ำนาคา อุทยานแห่งชาติภูลังกา จังหวัดบึงกาฬ
เจ้าปู่อือลือราชา เป็นราชาผู้ถูกสาปให้เป็นพญานาคเฝ้าถ้ำแห่งนี้ชั่วนิจนิรันดร์ เพราะเป็นต้นเหตุของรักไม่สมหวังระหว่างพญานาคกับมนุษย์ ทำให้เมืองที่เจริญรุ่งเรืองล่มสลายกลายเป็นบึงโขงหลง พระอือลือราชาจะพ้นคำสาปก็ต่อเมื่อบังเกิดเมืองขึ้นใหม่ ซึ่งในอดีตพื้นที่นี้ขึ้นกับจังหวัดหนองคาย แต่ปัจจุบันอยู่ในเขตพื้นที่ของจังหวัดใหม่คือบึงกาฬ
การเดินทางขึ้นไปยังถ้ำนาคา สามารถขึ้นได้ทางเดียว คือบริเวณสำนักสงฆ์ฐิติสาราราม (วัดตาดวิมานทิพย์) เส้นทางน้ำตกตาดวิมานทิพย์ จุดนี้ระหว่างทางจะพบประตูเต่า หินหัวเรือ หัวนาคาหัวที่ 3 และเมื่อขึ้นถึงบนเขาจะมีทางไปพบหัวนาคาหัวที่ 1 ซึ่งจะเป็นทางเดินป่าขึ้นเขา 2 กิโลเมตร เป็นทางดินสลับกับบันได และมีบางช่วงจะต้องดึงเชือก
ที่อยู่ : ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูลังกา อำเภอบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ
พิกัด : https://maps.app.goo.gl/jP6thUovxHNAJit7A
เปิดให้เข้าชม : ทุกวัน 07:00 น. – 14:00 น.
วัดมหาธาตุ (พระธาตุนคร) จังหวัดนครพนม
วัดมหาธาตุ (พระธาตุนคร) จังหวัดนครพนม
วัดมหาธาตุ หรือ พระธาตุนคร สร้างในปี พ.ศ. ๑๑๕๐ เป็นวัดใหญ่ประจำเมืองที่สร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างเมืองนครพนม เดิมชื่อ “วัดมิ่งเมือง” ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า วัดธาตุนคร เพราะว่าที่วัดนี้มีพระอรหันตธาตุ ผอบไม้จันทร์แดง พระพุทธรูปทองคำ บรรจุอยู่ในธาตุเจดีย์องค์หนึ่ง กอรปกับผู้ปกครองบ้านเมืองในสมัยนั้น นิยมสร้างเจดีย์เพื่อบรรจุอัฐิของบรรพบุรุษไว้ให้สมกับเกียรติยศ ในวัดจึงเต็มไปด้วยธาตุเจดีย์
พระธาตุนคร พระธาตุประจำวันเกิดของคนเกิดวันเสาร์
พระธาตุนคร พระธาตุประจำวันเกิดของคนเกิดวันเสาร์
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๖๒ จึงได้มีการรื้อถอนพระธาตุเล็กพระธาตุน้อยออกแล้วสร้าง “พระธาตุนคร” ขึ้นมาใหม่แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๖๕ โดยมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสสูง ๒๔ เมตรถือ เป็นปูชนียสถานที่สำคัญอันเป็น พระธาตุคู่บุญประจำวันเกิดของผู้ที่เกิดวันเสาร์ เชื่อกันว่าผู้ที่มาสักการะพระธาตุแห่งนี้ จะได้รับอานิสงส์เสริมสร้างบารมีและมีอำนาจวาสนาเป็นเจ้าคนนายคน
พระธาตุนคร มีลวดลายอันวิจิตรบรรจงตระการตา ลักษณะเป็นทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส รูปทรงตามแบบพระธาตุพนม องค์เดิมรูปทรงตั้งบน ฐานใหญ่2ฐาน ต่อลดหลั่นกันตามลำดับ แต่ละฐานมีรูปประตูอยู่ตรงกลางบนประตูเป็นรูปคล้ายบัวบาน มีรูปและลายต่าง ๆ ข้างประตู ทำเป็นลายเครือไม้ดอกไม้ผลรูปพระราชาทรงช้างทรงม้าต่อจากฐานใหญ่ทั้งสองขึ้นไปแล้วก็มีลักษณะแหลมเรียวขึ้น ไปตามลำดับ ตอนกลางในด้านทั้งสี่วิจิตรไปด้วยหมู่ดาวกระจาย (ดอกกระจับ) สูงถัดขึ้นไปทำเป็นรูปตู้หนังสือ พระไตรปิฎกโบราณ ต่อขึ้นไปอีกแล้ว ทำเป็นรูปลักษณ์คล้ายกลีบบัวอีก ที่ยอดสุดก็คล้ายดอกบัวตูมต่อจากนี้จึงเป็นฉัตรทองแดงเหลืองเจ็ดชั้น ยอดฉัตรนี้มี ลูกแก้วเจียระไน 1ดวงอยู่สูงสุดยอด ฐานมีกำแพงล้อมรอบ ทั้ง 4 ด้าน มีซุ้มประตูอยู่ตรงการทุกด้านเหนือซุ้มประตูมีรูปปั้นเทพนั่ง ขัดสมาธิประนม มือ(เทพพนม)ซึ่งเป็นเทพมเหศักดิ์พิทักษ์ พิทักษ์รักษาองค์พระธาตุ ที่มุมกำแพงมีเสาสูงขึ้นแล้วทำเป็นดอกบัวตูม บนยอดเสานอกกำแพง มีธาตุดูกล้อมอีกชั้นหนึ่งบนธาตุนั้นเป็นที่สำหรับ วางดอกไม้ธูปเทียนในคราวมีงานพิธีต่าง ๆ
หากใครมีโอกาสได้ไปเยือนจังหวัดนครพนม จึงไม่ควรพลาดที่จะไปกราบสักการะพระธาตุนครครั้งหนึ่ง เพื่อเป็น สิริมงคลแก่ตนเอง ครอบครัว และคนใกล้ชิด อธิษฐานจิตให้ดำรงชีวิตอยู่ในความไม่ประมาท เร่งทำความดีเพื่อสะสมเป็นพลังบุญไว้แก่ตนเองในภายภาคหน้า
ที่อยู่ : พระธาตุนคร ประดิษฐานที่วัดมหาธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม
พิกัด : https://maps.app.goo.gl/vJ9idPrDPJyk5rV3A
เปิดให้เข้าชม : ทุกวัน 08:00 น. – 17:00 น.
ลานพญาศรีสัตตนาคราช จังหวัดนครพนม
ลานพญาศรีสัตตนาคราช จังหวัดนครพนม
ลานพญาศรีสัตตนาคราช ตั้งอยู่ในบริเวณเขื่อนหน้าเมืองริมแม่น้ำโขง ตรงจุดตัดระหว่างถนนสุนทรวิจิตรกับถนนนิตโย องค์พญาศรีสัตตนาคราชเป็นรูปปั้นพญานาคเจ็ดเศียร พ่นน้ำ ขดลำตัวและหาง หล่อด้วยโลหะทองเหลือง หันหน้าออกสู่แม่น้ำโขงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ในทุกปีวันที่ 7 เดือน 7 (ช่วงวันที่ 7-13 กรกฎาคม) จะมีการจัดงานบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราช ทุกวันในช่วงหัวค่ำจะมีการเปิดไฟประดับรอบองค์พญาศรีสัตตนาคราช
ประติมากรรมพญาศรีสัตตนาคราช สร้างด้วยทองเหลืองทั้งองค์ มีขนาดกว้าง 4.49 เมตร สูง 10.90 เมตร น้ำหนักรวม 9 ตัน ประดิษฐานอยู่บนแท่นรวมความสูง 16.29 เมตร ถือว่าเป็นพญานาคองค์เดียวในโลกที่ไม่เหมือนใคร เพราะที่พระศอมีสร้อยสังวาลย์ที่นำเอาสัญลักษณ์เหนือซุ้มประตูองค์พระธาตุพนมมาสวมคล้องไว้ แสดงถึงองค์พญานาคที่มีความผูกพัน เชื่อมโยง พิทักษ์ ปกปักรักษาองค์พระธาตุพนมตามตำนานที่กล่าวขานสืบมานานชั่วอสงไขย
พญาศรีสัตตนาคราช รูปลักษณะเป็นองค์พญานาค 7 เศียร ประทับพักอิริยาบทสงบนิ่งขดลำตัว 3 ชั้น บ่งบอกถึงความสงบสุขของจังหวัดนครพนมที่พญานาคเลือกเป็นที่ประทับ รูปทรง 7 เศียร เมื่อรวมกันแล้ว รูปทรงจะคล้ายดอกบัวซึ่งในตำนานพญานาคจะเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา หน้าหรือลำตัวพญานาคจะอวบอ้วน เยือกเย็นเสมือนผู้ใหญ่ใจดีที่สลัดสิ้นซึ่งกิเลส ตัณหา ราคะ เปี่ยมด้วยคุณธรรม
งานบวงสรวง พญาศรีสัตตนาคราช
งานบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราช
ผู้มาขอพรจากท่านจะได้รับความสมประสงค์ สมปรารถนาทุกคน สังวาลย์ที่ประดับศอสื่อถึงสัญลักษณ์ของจังหวัดนครพนม ซึ่งมีองค์พระธาตุพนมอันเป็นศูนย์รวมจิตใจ ของพี่น้องพุทธศาสนิกชนทั่วโลก และอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ที่เจริญรุ่งเรืองในอดีตการ หันหน้าไปทางทิศเหนือเฉียงตะวันออก ที่ 6 องศา 20 ฟิลิปดา ทิศเหนือบ่งบอกถึงการหันหน้ามองเมืองนครพนม ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง อันจะนำสู่ความเจริญรุ่งเรือง มีเกียรติยศ ชื่อเสียง ประกาศศักดิ์ศรีบารมีให้แก่เมืองนครพนมให้ลือเลื่องชื่อขจรขจาย การว่ายไหลทวนกระแสน้ำโขงขึ้นไปทางเหนือเปรียบประดุจการแสดงถึงพละกำลังที่ยิ่งใหญ่ แข็งแรง การหันเฉียงตะวันออกนำไปสู่การออกได้ทุกช่องทาง มิติดขัดสน ทำมาค้าขายคล่องออกตัวได้ดีปราศจากปัญหา อุปสรรค ทั้งปวง ซึ่งหากหันไปทางทิศใต้ก็จะเป็นการไหลไปตามน้ำโขง ซึ่งอธิบายเปรียบได้เสมือนปลาที่กำลังจะหมดแรง หมดพละกำลัง หรือสัตว์ที่กำลังจะตายเท่านั้นที่จะไหลไปตามน้ำ หากหันไปทิศตะวันตกก็ดุจดั่งพระอาทิตย์อัศดง ตกต่ำขาลง ที่กำลังจะลับเหลี่ยมเขา นำไปสู่ความมืดมิด บอดสนิทในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข อันผู้คนมิพึงปรารถนาได้พบพาน
ในทุกปีจังหวัดได้จัดงานบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราช ในวันที่ 7 เดือน 7 บริเวณลานพญาศรีสัตตนาคราช โดยการระดมสรรพกำลังบูรณาการการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและพี่น้องประชาชนทั่วไปในจังหวัด
>> “ตำนานเรื่องเล่า พญาศรีสัตตนาคราช” คลิกที่นี่ <<
ที่อยู่ : ลานพญาศรีสัตตนาคราช อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม
พิกัด : https://maps.app.goo.gl/pQSgv1JkSqZWi7dM7
เปิดให้เข้าชม : ทุกวัน 24 ชั่วโมง
พระธาตุพนมวรมหาวิหาร จังหวัดนครพนม
พระธาตุพนมวรมหาวิหาร จังหวัดนครพนม
พระธาตุพนม ศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์แห่งอีสาน พระบรมธาตุที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองทางพุทธศาสนาของนครพนมมาแต่ โบราณกาล สร้างขึ้นเมื่อต้นพุทธกาลประมาณ พ.ศ.๘ ในสมัยอาณาจักรศรีโคตรบูรเจริญรุ่งเรือง ประดิษฐานอยู่บนภูกำพร้าตั้งตระหง่าน อยู่ริมฝั่งโขง เป็นสถานที่ครั้งหนึ่งพุทธองค์เคยเสด็จมาโปรดสัตว์น้อยโหญ่ ตามตํานานอุรังคธาตุกล่าวถึง พระมหากัสสปะและพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ ได้นําพระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนหน้าอก) ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาจากชมพูทวีปและท้าวพญาผู้ครองนครทั้ง ๕ เป็นประธาน ในการสร้างที่ประดิษฐานพระอุรังคธาตุ อันเป็นที่ตั้งของพระธาตุพนมในปัจจุบัน
องค์พระธาตุพนมได้รับการปฏิสังขรณ์หลายครั้ง จนเมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๑๘ เวลา ๑๙.๓๙ น. พระธาตุพนมได้ล้มทลายลงทั้งอิงค์เนื่องจากความเก่าแก่ขององค์พระธาตุ และภัยพิบัติจากการเกิดฝนตกพายุพัดแรง ติดต่อกันหลายวัน ประชาชนได้ร่วมบริจาคทุนทรัพย์ และรัฐบาลได้ก่อสร้างองค์พระธาตุขึ้นใหม่สร้างครอบฐานพระธาตุองค์เต็ม โดยรักษารูปแบบเต็ม ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ นอกจากพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุในองค์พระธาตุแล้ว ยังมีของมีค่ามากมายนับหมื่นชิ้น
พระธาตุปีเกิดของคนเกิดปีวอก และเป็นพระธาตุประจำวันเกิดของผู้เกิดวันอาทิตย์
พระธาตุพนมถือเป็นพระธาตุปีเกิดของคนเกิดปีวอก และเป็นพระธาตุประจำวันเกิดของผู้เกิดวันอาทิตย์
พุทธศาสนิกชนที่ได้มาเยี่ยมเยียนจากทั่วสารทิศทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขง ได้สืบต่อความเชื่อกันมาจากบรรพบุรุษ ว่ากันว่าหากใครได้มา นมัสการพระธาตุครบ ๗ ครั้ง จะถือว่าเป็น “ลูกพระธาตุ” เป็นสิริมงคลแก่ชีวิต หรือแม้แต่การได้มากราบพระธาตุพนมสักครั้ง ถือเป็นอานิสงส์ผลบุญยิ่งนัก
พระธาตุพนมเป็นพระธาตุประจำปีเกิด(ปีวอก)แห่งเดียวบนแผ่นดินที่ราบสูง และยังเป็นพระธาตุประจำวันเกิดของผู้ที่เกิดวันอาทิตย์ เนื่องด้วยตามตำนานบริเวณที่ตั้งของพระธาตุพนมในอดีตเป็นสถานที่พระพุทธเจ้าได้ขึ้นมาหมุน แล้วมองลงไปรอบๆ ก่อนจะประกาศก้องว่าพื้นที่ทั่วบริเวณนี้จะเป็นที่สืบทอดและเป็นจุดเริ่มต้นพระพุทธศาสนา เสมือนกับวันอาทิตย์เป็นวันเริ่มต้นของวันอื่นในสัปดาห์ ทั้งตั้งหันไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นทิศประจำของ “พระราหุล” และยังเป็นองค์เจดีย์ใหญ่ที่สุดในแผ่นดินอีสาน ซึ่งสอดคล้องกับลักษณะ ของเทวดาประจำวันอาทิตย์
ที่อยู่ : พระธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม
พิกัด : https://maps.app.goo.gl/FK6TgYVV27HTbG8s7
เปิดให้เข้าชม : ทุกวัน 05:00 น. – 20:00 น.
พญาศรีภุชงค์มุกดานาคราช จังหวัดมุกดาหาร
พญาศรีภุชงค์มุกดานาคราช จังหวัดมุกดาหาร
พญาศรีภุชงค์มุกดานาคราช – พญานาคดิน (ปฐพีพิภพ) กับคติความเชื่อ “อุดมสมบูรณ์ มั่นคง มั่งคั่ง ร่ำรวย”
พญาศรีภุชงค์มุกดานาคราช ลำตัวสีขาวหมอก สง่างาม โดดเด่น ดูอบอุ่น มีอุปนิสัย ตรงไปตรงมา ดูภายนอกมองว่าดุร้าย แท้จริงแล้วใจดี ชื่อองค์พญานาคซึ่งหมาย พญานาคผู้นำความเป็นสิริมงคลและความรุ่งโรจน์มาสู่จังหวัดมุกดาหาร
พญาศรีภุชงค์มุกดานาคราช เป็นประติมากรรมพญานาค ที่มีเกล็ดหินอ่อนสีขาวหมอกมัว เป็นองค์พญานาคที่ประดับหินอ่อนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ณ ขณะนี้ โดยมีความสูง 11 เมตร ยาว 51 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางตลอดลำตัว 1.50 เมตร โดดเด่นสวยงามบริเวณสวนสาธารณะแก่งกะเบา
สามารถเข้าไปกราบไหว้สักการะขอพรและได้ลอดท้องพญานาค เพื่อความเป็นสิริมงคล มีความสุข สมหวัง ร่ำรวย และแข็งแรง ดังคำอธิษฐาน
พญาศรีภุชงค์มุกดานาคราช ตั้งอยู่ภายในแก่งกะเบา อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร
>> “ตำนานเรื่องเล่า พญาภุชงค์นาคราช” คลิกที่นี่ <<
ที่อยู่ : พญาศรีภุชงค์มุกดานาคราช ตั้งอยู่ในบริเวณสวนสาธารณะแก่งกะเบา อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร
พิกัด : https://maps.app.goo.gl/LpEpwVau89v67wUM7
เปิดให้เข้าชม : ทุกวัน 24 ชั่วโมง
พญาอนันตนาคราช จังหวัดมุกดาหาร
พญาอนันตนาคราช จังหวัดมุกดาหาร
พญาอนันตนาคราช – พญานาคน้ำ (บาดาลพิภพ) กับคติความเชื่อ “ร่มเย็น ร่มรื่น ราบรื่น”
พญานาคองค์ใหญ่ที่พันรอบเสาต้นใหญ่หันหน้าไปทางแม่น้ำโขง ตั้งอยู่ติดกับสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต) โดยมีความเชื่อกันว่าบริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งนี้คือปากถ้ำสู่เมืองบาดาล และตามตำนานพญานาคอนันตนาคราชถือเป็นราชาแห่งพญานาคทั้งปวงและเป็นเจ้าแห่งท้องสมุทร
ประติมากรรมพญานาคอนันตนาคราช มีลักษณะเป็นองค์พญานาคเลื้อยพันรอบเสาสีทองที่มีความสูงเหนือสะพานมิตรภาพ ช่วงลำตัวองค์พญานาคมีเกล็ดสีดำตัดกับแผงสีทอง หันพระเศียรไปทางแม่น้ำโขง โดยองค์พญานาคอนันตนาคนี้เปรียบเสมือนพญานาคน้ำซึ่งเป็นหนึ่งในสามองค์พญานาคแห่งมุกดาหาร
พญาอนันตนาคราช จังหวัดมุกดาหาร
>> “ตำนานเรื่องเล่า พญาอนันตนาคราช” คลิกที่นี่ <<
ที่อยู่ : ศาลพ่อปู่พญานาค อนันตนาคราช (สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2) อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร
พิกัด : https://maps.app.goo.gl/cByDAnuayfLfzZWn8
เปิดให้เข้าชม : ทุกวัน 24 ชั่วโมง
วัดรอยพระพุทธบาทภูมโนรมย์ จังหวัดมุกดาหาร
พญาศรีมุกดามหามุนีนีลปาลนาคราช จังหวัดมุกดาหาร
พญาศรีมุกดามหามุนีนีลปาลนาคราช – พญานาคฟ้า (สวรรค์พิภพ) กับคติความเชื่อ “เจริญรุ่งเรือง เติบโต เลื่อนตำแหน่ง”
พญาศรีมุกดามหามุนีนีลปาลนาคราช ประติมากรรมพญานาคขนาดใหญ่สร้างอยู่บนเขาภูมโนรมย์ ของวัดรอยพระพุทธบาทภูมโนรมย์ ลำตัวยาว 122 เมตร สูงประมาณ 20 เมตร ที่มีการออกแบบองค์ประกอบและสีสันเขียวอมฟ้างดงาม
การสร้าง “พญาศรีมุกดามหามุนีนีลปาลนาคราช” เป็นดำริของพระมหามงคล มังคลคุโณ รองเจ้าคณะจังหวัดมุกดาหาร เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน เพื่อให้พญานาคปกปักรักษาองค์พระเจ้าใหญ่แก้วมุกดาศรีไตรรัตน์ซึ่งประดิษฐานอยู่บนยอดเขาภูมโนรมย์ และสร้างเนื่องในวาระเฉลิมฉลองการก่อตั้งวัดครบ 100 ปี และครบรอบ 36 ปีจังหวัดมุกดาหาร
ผู้ที่มากราบไหว้พญานาคสามารถตั้งจิตอธิษฐาน แล้วเดินลอดท้องพญานาคทั้ง 7 ช่อง ที่มีความเชื่ออันเป็นมงคลต่าง ๆ และยังสามารถนำผ้าแดงที่เขียนชื่อตัวเองไปผูกไว้ที่ต้นไม้รอบๆ พญานาค เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง และเสริมความเจริญรุ่งเรื่อง วาสนาอีกด้วย
วัดรอยพระพุทธบาทภูมโนรมย์ จังหวัดมุกดาหาร
>> “ตำนานเรื่องเล่า พญาอนันตนาคราช” คลิกที่นี่ <<
ที่อยู่ : วัดรอยพระพุทธบาทภูมโนรมย์ อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร
พิกัด : https://maps.app.goo.gl/Un6eLg5FXCzN8pvQ6
เปิดให้เข้าชม : ทุกวัน 08:00 – 18:00 น.
ขอบคุณข้อมูลจาก
- การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
- สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดอุดรธานี
- กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาของประเทศไทย
- ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม
- สำนักงานจังหวัดนครพนม