ประวัติศาสตร์ แมวไทย
แมวไทย ในสมัยกรุงศรีอยุธยา
สำหรับต้นกำเนิดของ “แมวไทย” พบบันทึกเกี่ยวกับแมวไทยที่เก่าแก่ที่สุดใน “สมุดข่อยโบราณ” (กระดาษ ทำจากเปลือกต้นข่อย หรือเรียกว่า สมุดไทย) ใน สมัยกรุงศรีอยุธยา หากนึกไม่ออกว่าช่วงไหน ก็คือช่วงเดียวกับในละคร “บุพเพสันนิวาส” นั่นเองค่ะ
ในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้นเริ่มมีการบันทึกเกี่ยวกับแมวไทย ซึ่งถือว่าเป็น “ตำราดูลักษณะแมว” เล่มแรก ที่ได้แยกแยะลักษณะและนิสัยของแมว ตามตำราแมวไทยนั้นแบ่งออกเป็น 23 สายพันธุ์
โดยแบ่งเป็น แมวให้คุณ ทั้งสิ้น 17 สายพันธุ์ ดังนี้ วิเชียรมาศ ศุภลักษณ์ มาเลศ โกนจา นิลรัตน์ วิลาศ เก้าแต้ม รัตนกำพล นิลจักร มุลิลา กรอบแว่น ปัดเสวตร กระจอก สิงหเสพย์ การเวก จตุบท และแซมเศวตร และ แมวให้โทษ อีกทั้งสิ้น 6 สายพันธ์คือ ทุพลเพศ พรรณพยัคฆ์ ปีศาจ หิณโทษ กอบเพลิง และเหน็บเสนียด
เหตุที่แบ่งเป็นแมวให้คุณกับแมวให้โทษนั้น เป็นความเชื่อของคนในสมัยโบราณ โดยดูจากลักษณะนิสัยของแมว ว่าเลี้ยงแล้วจะนำสิ่งที่ดี ๆ หรือสิ่งชั่วร้ายมาสู่ผู้เป็นเจ้าของหรือไม่

ภาพแมววิเชียรมาศ ในตำราแมวโบราณ

ภาพแมวศุภลักษณ์ ในตำราแมวโบราณ
แมวไทย ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์ได้ทรงพระราชทานแมวไทยสายพันธุ์วิเชียรมาศคู่หนึ่งให้กับกงสุลอังกฤษ ซึ่งกงสุลอังกฤษคนนั้นได้นำ “แมววิเชียรมาศ” ไปประกวดที่ประเทศอังกฤษโดยผลปรากฏว่าแมวไทยชนะเลิศในประเภทแมวขนสั้น ส่งผลให้แมวไทยมีชื่อเสียงไปทั่วโลก
ในสมัยนั้นแมวไทยจะถูกเลี้ยงอยู่ในวังเท่านั้น โดยส่วนใหญ่จะเป็นแมวพันธุ์วิเชียรมาศ ชาวบ้านธรรมดาไม่มีสิทธิ์ในการเลี้ยงแมวไทย และห้ามไม่ให้ซื้อขายแมวไทยกันด้วย
ต่อมาแมวไทยในวังเริ่มลดจำนวนลง แมวกลายมาเป็นสัตว์เลี้ยงที่อยู่กระจัดกระจายตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น ในวัด หรือตามบ้านเรือนประชาชน ขาดการควบคุมดูแลอย่างเป็นจริงเป็นจัง ทำให้แมวไทยไปผสมกันเองตามธรรมชาติจนเกิดการข้ามสายพันธุ์
ปัจจุบัน แมวไทยเดิมพันธุ์แท้ เหลือเพียง 6 สายพันธุ์เท่านั้น ได้แก่ วิเชียรมาศ ศุภลักษณ์ มาเลศ โกนจา นิลจักร แซมเศวตร

ภาพแมวมาเลศ ในตำราแมวโบราณ

ภาพแมวนิลจักร ในตำราแมวโบราณ
ความสัมพันธ์ของแมวและผู้คน
สำนวนไทยเกี่ยวกับแมว
นอกจากหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว แมวยังปรากฏในสำนวนหรือสุภาษิตไทย เช่น “ย้อมแมวขาย” “ยื่นหมูยื่นแมว” “ปิดประตูตีแมว” หรือ “แมวไม่อยู่หนูร่าเริง” เป็นต้น แสดงให้เห็นว่าแมวไทยมีประวัติความเป็นมายาวนาน เป็นสัตว์เลี้ยงยอดนิยมตั้งแต่โบราณ และยังมีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อของคนโบราณมาจนถึงปัจจุบัน
บทอาขยาน แมวเหมียวแยกเขี้ยวยิงฟัน
แมวเอ๋ยแมวเหมียว
รูปร่างปราดเปรียวเป็นนักหนา
ร้องเรียกเหมียวเหมียวเดี๋ยวก็มา
เคล้าแข้งเคล้าขาน่าเอ็นดู
รู้จักเอารักเข้าต่อตั้ง
ค่ำค่ำซ้ำนั่งระวังหนู
ควรนับว่ามันกตัญญู
พอดูอย่างไว้ใส่ใจเอย
ผู้แต่ง : พระประสิทธิ์อักษรสาร (นายทัด เปรียญ)
แมวไทย ในภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในวัด
ภายในวัดมักจะมีจิตรกรรมฝาผนังเขียนไว้ทั้งในโบสถ์ หรือวิหาร เพื่อเล่าเรื่องพุทธประวัติ และสอดแทรกวิธีชีวิตของชาวบ้าน เรื่องเล่าท้องถิ่นลงไปด้วย พบภาพแมวปรากฏบนภาพฝาผนังวัด เป็นหลักฐานว่าแมวป็นสัตว์เลี้ยงยอดนิยม และมีความเกี่ยวข้องกับคนไทยมานาน

ภาพจิตรกรรมฝาผนัง วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)
แสตมป์ แมวไทย
แสตมป์ หรือ ตราไปรษณียากร (Postage stamp หรือ Stamp) เป็นหลักฐานการชำระค่าบริการไปรษณีย์ มักเป็นกระดาษรูปสี่เหลี่ยมเพื่อติดบนซองจดหมาย แสตมป์ทั่วไปนิยมพิมพ์ภาพบุคคลสำคัญ สถานที่สำคัญ ธงชาติ แต่อาจมีแสตมป์ที่ระลึก ที่พิมพ์ขึ้นเนื่องในโอกาสพิเศษ เช่น เทศกาลสำคัญ งานศิลปะ ดอกไม้ และภาพแมวไทยก็เคยถูกพิมพ์เป็นสแตมป์ด้วย
ปัจจุบันไม่ค่อยได้เห็นการชำระค่าบริการด้วยการติดแสตมป์แล้ว แต่หลายคนนิยมสะสมแสตมป์ ถือเป็นงานอดิเรกอย่างหนึ่งที่นิยมกันทั่วโลก

แสตมป์แมวไทย 2514
ลักษณะและนิสัยแมวไทยโดยทั่วไป
ลักษณะทางกายภาพ
แมวไทยเป็นแมวขนาดกลาง ลักษณะโดยทั่วไป หัวไม่กลมหรือแหลมจนเกินไป หน้าผากกว้าง จมูกสั้น หูตั้งสั้น ดวงตากลมโตสวยงาม
มีลำตัวขนาดเล็กถึงปานกลาง รูปร่างเพรียวบาง ขายาวเรียวได้สัดส่วนกับลำตัว น้ำหนักเบา เคลื่อนไหวได้ที่รวดเร็วและคล่องตัว มีโครงสร้างกระดูกและกล้ามเนื้อที่มีความยืดหยุ่นสูง อุ้งเท้ากลม หางยาว โคนหางใหญ่ ปลายหางเรียวแหลมชี้ตรง
มีจุดเด่นคือ ขนสั้นและสีสันสวยงาม ขนมีลักษณะบางเบา และนุ่มคล้ายเส้นไหม โดยสีขนสามารถพบได้หลากหลายสี และหลายแบบ
ขนาดของแมวไทย โดยทั่วไปไม่ได้ระบุความสูงมาตรฐานเอาไว้แน่ชัด แต่แมวเพศผู้อาจตัวใหญ่กว่าเพศเมียเล็กน้อย และมีน้ำหนักเฉลี่ยอยู่ที่ 4-6 กิโลกรัม แมวไทยโดยทั่วไปมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 15-20 ปี
ลักษณะนิสัย
แมวไทยส่วนใหญ่มีนิสัยโดดเด่น คือ ฉลาด มีความเป็นตัวของตัวเอง รู้จักคิด รู้จักประจบ รักบ้าน รักเจ้าของ และรักอิสระ เป็นแมวที่ชอบหนีเที่ยวเป็นประจำ เพราะเป็นแมวที่ชอบเข้าสังคม ซึ่งถือว่าเป็นบุคลิกประจำตัวที่ทำให้แตกต่างจากแมวพันธุ์อื่น
แมวพันธุ์ไทยสามารถเข้ากับเด็กได้ดี ด้วยเป็นแมวที่ชอบเล่นและมีความขี้เล่นอยู่แล้ว และยังมีนิสัยชอบอยู่ใกล้กับเจ้าของ จึงเข้ากับครอบครัวได้ง่าย เหมาะสำหรับการนำมาเลี้ยงอยู่กับเด็ก หรืออาจเลี้ยงร่วมกับสัตว์เลี้ยงอื่นได้

ภาพจิตรกรรมฝาผนัง วัดบางแคใหญ่
6 สายพันธุ์ แมวไทย แมวมงคล ที่พบได้ในปัจจุบัน
1.วิเชียรมาศ (Wichienmaat / Siamese Cat)

วิเชียรมาศ (Wichienmaat / Siamese Cat)
ประวัติสายพันธุ์
วิเชียรมาศ หมายถึง เพชรแห่งดวงจันทร์ (Moon Diamond) เป็นพันธุ์ที่ถูกบันทึกไว้ในสมุดข่อยโบราณ โดยในสมัยก่อนแมวพันธุ์วิเชียรมาศจะ มีแต้มสีดำเข้ม 8 จุด ที่ปาก หาง เท้า และหู ดวงตาสีฟ้า และขนสีขาว
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ปี ค.ศ. 1877 ประธานาธิบดีของสหรัฐสหรัฐอเมริกา รัทเทอร์ฟอร์ด บี. เฮส์ (President Rutherford B. Hayes) ได้รับของขวัญเป็นแมวพันธุ์วิเชียรมาศมาจากกษัตริย์ของสยาม ผ่านทางเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา David B. Sickels ประจำประเทศไทย ที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย
ต่อมา ในปี ค.ศ. 1934 สมาคม The Cat Fanciers Association (CFA) ได้มีการขึ้นทะเบียนแมวพันธุ์วิเชียรมาศ รวมถึงได้กำหนดสีแต้มและสีขนลำตัวที่พบได้ โดยเฉพาะบริเวณขา หาง ใบหน้า และหู ซึ่งหากพบแต้มสีน้ำตาล (Brown), สีดำ (Black) จะมีสีขนลำตัวเป็นสีน้ำตาลแกมเหลือง (Pale fawn) และหากพบแต้มสีช็อกโกแลต (Chocolate) จะมีสีขนลำตัวเป็นสีครีมขาว (Creamy white)
และได้เพิ่มลักษณะสีแต้มและสีขนลำตัวที่พบ คือแต้มสีม่วงอ่อน (Lilac) จะมีสีขนลำตัวเป็นสีขาว (White) ในปี ค.ศ. 1955
ในปี ค.ศ. 1979 สมาคม The International Cat Association หรือสมาคมแมวนานาชาติ ได้มีการขึ้นทะเบียนแมวพันธุ์วิเชียรมาศมาจนถึงปัจจุบันค่ะ
ลักษณะทางกายภาพ
วิเชียรมาศ เป็นแมวขนาดกลาง ศรีษะมีลักษณะยาวสมส่วน, ดวงตาขนาดใหญ่ สีฟ้า เป็นรูปทรงอัลมอนด์ (Almond shaped), คอและลำตัวยาว เป็นกล้ามเนื้อ, ขาเรียวเล็ก อุ้งเท้ากลม, หางยาวลักษณะคล้ายหางเสือ แต้มบริเวณหางจะมีสีเข้มจากปลายหาง และจางลงเมื่อขึ้นมาถึงโคนสะโพก
ขนสั้น บางเบา และนุ่มคล้ายเส้นไหม โดยสีขนสามารถพบได้หลากหลายสี เช่น สีซีล (Seal), สีฟ้า (Blue), สีช็อกโกแลต (Chocolate), สีม่วงอ่อน (Lilac), สีแดง (Red), สีครีม (Cream), สีเทาแกมเหลือง (Fawn), สีคาราเมล (Caramel), สีเหลืองส้ม (Apricot), และสีซินนาม่อน (Cinnamon)
นอกจากนี้ยังมีแต้มสีครั่งหรือสีน้ำตาลไหม้ มีแต้มสีครั่งหรือสีน้ำตาลไหม้ที่บริเวณใบหน้า หูทั้งสองข้าง เท้าทั้งสี่ หางและที่อวัยวะเพศ (ทั้งแมวเพศผู้และแมวเพศเมีย) รวม 9 แห่ง แต่ไม่ใช่สายพันธุ์เดียวกันกับแมวเก้าแต้ม
ลักษณะนิสัย
วิเชียรมาศเป็นแมวที่ฉลาดมาก ขี้อ้อน เข้ากับคนได้ง่าย แต่มีเสียงร้องที่ดังมาก มีนิสัยคล้ายสุนัขในเรื่องการชอบเล่นคาบของคืน (Play fetch) และชอบเล่นของเล่นเป็นอย่างมาก
ต้องการความเอาใจใส่ และต้องการความรักเป็นอย่างมาก รวมถึงชอบให้ความรักกับเจ้าของ แต่สามารถปล่อยให้แมวอยู่ตัวคนเดียวในบ้านทั้งวันได้
แมววิเชียรมาศนี้มีความเชื่อว่า หากเลี้ยงไว้ในบ้าน จะนำพาเงินทองเข้าสู่บ้าน จะให้โชคลาภก้อนโตแบบไม่ทันตั้งตัว ทำให้ผู้เลี้ยงปราศจากโรคภัย เสริมบารมีให้ผู้เลี้ยง
2.แมวศุภลักษณ์ (Suphalak / Burmese Cat)

แมวศุภลักษณ์ (Suphalak / Burmese Cat)
ประวัติสายพันธุ์
ศุภลักษณ์ หมายถึง ลักษณะดี เป็นอีกสายพันธุ์ที่ถูกบันทึกไว้ในสมุดข่อยโบราณ โดยับนทึกไว้ว่ามีเส้นขนสีทองแดงทั้งตัว และหนวดสีทองแดง จึงมีอีกอีกชื่อว่า แมวทองแดง ในสมัยอยุธยาเลี้ยงได้เฉพาะในวังเท่านั้น จึงได้ชื่อว่าเป็น แมวชาววัง ราชนิกูล
แต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้นคนไทยจำนวนหนึ่งถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลยที่พม่า และมีแมวศุภลักษณ์นี้ติดไปด้วย ด้วยความสง่างามของศุภลักษณ์ จึงทำให้เป็นที่นิยมของเหล่าชนชั้นสูงที่นั่นเช่นกัน
ต่อมาในปี พ.ศ. 2473 ดร.โจเซพ ซี ทอมสัน มาพบแมวศุภลักษณ์นี้ที่พม่า จึงนำกลับไปที่ซานฟรานซิสโกด้วย และได้พาไปจดทะเบียนในประเทศอังกฤษ โดยใช้ชื่อว่า Burmese Cat หรือ แมวพม่า จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมจึงถูกเรียกว่า Burmese Cat ค่ะ
ลักษณะทางกายภาพ
แมวศุภลักษณ์ มีรูปร่างขนาดกลาง ศีรษะค่อนข้างกลม มีสีขนเป็นสีทองแดงหรือ สีน้ำตาลเข้มทั่วตัว มีแต้มดำตรงหน้าคล้ายแมววิเชียรมาส และบริเวณปลายหู ปลายขา และหาง จะมีสีเข้มกว่าบริเวณทั่วลำตัว
มีนัยน์ตาเป็นสีเหลืองอำพัน หนวดเส้นเรียวสีทองแดง หูมีลักษณะคล้ายสามเหลี่ยม ปลายหูมน เรียว หูตั้งชี้ มีน้ำหนักตัวพอประมาณคล้ายแมววิเชียรมาส แข้งขาเรียว ฝ่าเท้าอวบ มีหางยาวได้สัดส่วนกับลำตัว โคนหางใหญ่ ปลายหางเรียวเล็ก
ลักษณะนิสัย
แมวศุภลักษณ์เป็นแมวที่มีความกระตือรือร้นอยู่เสมอ ขี้สงสัย รักการผจญภัย รักอิสระ ในสายตาคนแปลกหน้าก็ดูดุเอาพอได้ ให้ความสนใจกับสิ่งต่างๆรอบตัวอย่างมาก กับเจ้าของจะขี้อ้อนตามนิสัยของแมวไทย
ศุภลักษณ์เป็นแมวลักษณะดี มีความเชื่อว่า ช่วยส่งเสริมเรื่องโชคลาภ ร่ำรวย จะมีความสุข สุขภาพดี เสริมเรื่องยศถาบรรดาศักดิ์ เป็นเจ้าคนนายคน ทำให้เงินทองไหลมาเทมา เหมาะกับคนที่ทำธุรกิจ การเจรจาและการค้าขายจะราบรื่นมากขึ้น
3.แมวสีสวาด / แมวโคราช (Silvery Blue / Korat Cat)

แมวสีสวาด / แมวโคราช (Silvery Blue / Korat Cat)
ประวัติสายพันธุ์
แมวสีสวาด เป็นแมวอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่มีมายาวนาน มีหลักฐานบันทึกเกี่ยวกับแมวสีสวาดในสมุดข่อยที่เขียนขึ้นในช่วงพ.ศ. 1893-2310 ในบันทึกได้กล่าวถึงแมวที่ให้โชคลาภที่ดี 17 ตัวของประเทศไทย ปัจจุบันสมุดข่อยนี้ถูกเก็บไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร
แมวสีสวาด ยังรู้จักกันในชื่ออื่นๆ อย่าง แมวมาเลศ (แปลว่า ดอกไม้ เหมือนคำว่ามาลี มาลา) หรือแมวดอกเลา ซึ่งดอกเลาสีธรรมชาติจะมีสีเดียวกับแมวสายพันธุ์นี้เลยค่ะ สวยงามมากๆ
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระราชทานชื่อให้แมวสีสวาดว่า “แมวโคราช” ตามแหล่งกำเนิดของสายพันธุ์ ซึ่งแมวโคราชมีต้นกำเนิดมาจาก อ.พิมาย จ.นครราชสีมา
แมวโคราชได้รับการยกย่องชื่นชมจากผู้คนทั้งในและต่างประเทศ โดยแมวโคราชถูกนำไปโชว์ในงานแสดงแมวที่ประเทศอังกฤษในช่วงศตวรรษที่ 19 ในชื่อ Blue Siamese และนำเข้าไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาครั้งแรกในปี 1950 ซึ่งแมวโคราชถือเป็นแมวไม่กี่สายพันธุ์ที่มีสีขนเดียวตลอดทั่งตัว คือ สีเทาน้ำเงิน (Silvery blue)
และแมวโคราชเคยประกวดชนะเลิศในระดับโลกมาแล้วในปี พ.ศ. 2503 ที่สหรัฐอเมริกา เป็นแมวตัวเมียชื่อว่าสนั่น และเป็นที่นิยมของชาวต่างประเทศมาก จึงนับว่าแมวไทยได้ทำชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยเป็นอันมาก
ลักษณะทางกายภาพ
แมวโคราชจัดอยู่ในกลุ่มแมวขนาดกลาง มีกล้ามเนื้อแน่นและแข็งแรง ลักษณะภายนอกคล้ายกับแมวสายพันธุ์จากประเทศรัสเซีย (Russian Blue) แต่มีขนชั้นเดียวมากกว่าขน 2 ชั้น
แมวโคราชเป็นแมวขนสั้น เส้นขนมันวาวและละเอียด บริเวณลำตัวจะเป็นสีเทาน้ำเงิน (silvery blue) ส่วนบริเวณจมูก ปากและฝาเท้ามีสีเทาน้ำเงินเข้มหรือสีลาเวนเดอร์ ซึ่งขนของแมวจะมีสีเข้มเงาเต็มที่ เมื่อแมวอายุประมาณ 2 ปี
ส่วนหัว มองจากทางด้านหน้าจะมีลักษณะเป็นรูปหัวใจ หน้าผากกว้างและแบน มีดวงตากลม สีเหลืองอมเขียว ส่วนจมูกมีขนาดสั้นและโค้งลงด้านล่างเล็กน้อย และมีจุดสังเกตอยู่ระหว่างหน้าผากและจมูก บริเวณคางและขากรรไกรมีความแข็งแรงและสามารถอยกจากกันได้ชัดเจน ส่วนหูมีขนาดใหญ่และความกว้างจะลดลงจากล่างขึ้นบน คือ บริเวณฐานกว้างและด้านบนมีความกลมมน
ส่วนหลังมีความโค้งเล็กน้อยและขาทั้ง 4 ข้าง วางอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมกับลำตัว โดยมีขาหลังยาวกว่าขาหน้าเล็กน้อย ส่วนหางมีความยาวขนาดพอดี โดยมีส่วนฐานกว้างและแคบลงจนถึงส่วนปลายที่มีความโค้งมน
แมวโคราชถือเป็นแมวที่มีอายุค่อนข้างยืน โดยมีอายุขัยเฉลี่ยประมาณ 18-19 ปี
ลักษณะนิสัย
แมวโคราชเป็นแมวสังคมและชอบที่จะเล่นกับคน สามารถเข้ากับครอบครัวและสัตว์ชนิดอื่นได้ดี เป็นแมวที่ขี้อ้อน ชอบที่จะถูกกอด และเล่นด้วยในขณะที่พวกมันเป็นจุดสนใจ ซึ่งแมวโคราชยังสามารถจดจำการกระทำที่ทำให้เจ้าของสนใจตัวเองได้
บางครั้งแมวจะปีนขึ้นไปบนตักหรือแขนของเจ้าของ เพื่อแสดงความรัก และบางครั้งอาจจะอิจฉาเมื่อสัตว์เลี้ยงตัวอื่นได้รับความรักจากเจ้าของมากเกินไป นอกจากนี้ แมวโคราชจะไม่ค่อยร้องหรือบางครั้งแทบไม่ร้องเลย แต่อาจจะส่งเสียงร้องเวลาที่ไม่พอใจหรือถูกรบกวนเล็กน้อยเพียงเท่านั้น
มีเรื่องเล่ามากมายหรือเป็นตำนานเล่าขานเกี่ยวกับแมวโคราช รวมถึงตำนานพื้นบ้านที่กล่าวถึงการที่แมวโคราชมีหางหงิกงอมากเท่าไหร่จะมีโชคลาภมากเท่านั้น
คนในสมัยโบราณมีความเชื่อว่า เป็นแมวนำโชคลาภ ความโชคดี และจะนำมาซึ่งความสุขสวัสดิ์ เป็นมงคลแก่ผู้เลี้ยง หากเลี้ยงไว้ จะพบเจอแต่ความสุขความเจริญ มีความสงบร่มเย็น พบเจอแต่สิ่งมงคล และมีผู้ใหญ่อุปถัมภ์ค้ำชู
4.แมวโกนจา / โกญจา

แมวโกนจา / โกญจา
ประวัติสายพันธุ์
แมวโกนจา โกญจา เป็นหนึ่งในแมวที่ปรากฏชื่อในสมุดข่อย ตำราแมวไทยโบราณ ตามตำราแมวโบราณระบุว่าเป็นแมวที่มีขนสั้น สีดำล้วนทั้งตัว นัยน์ตามีสีขาวอมเหลือง และที่สำคัญคือเท้าจะมีลักษณะทอดคล้ายเท้าสิงห์ ที่สำคัญคือเท้า หรือฝ่าเท้าจะต้องเป็นสีดำ
โดยแมวชนิดนี้นับว่าเป็นหนึ่งในสายพันธุ์แมวที่ในปัจจุบันนั้นหาได้ค่อนข้างง่าย แต่ไม่ได้รับความนิยมสักเท่าไร เมื่อเทียบกับแมวมงคลชนิดอื่นๆ มีลักษณะคล้ายกับแมวดำสายพันธุ์ต่างชาติอีกสายพันธุ์หนึ่ง คือ “แมวบอมเบย์”
ลักษณะทางกายภาพ
แมวโกนจา เป็นแมวสีดำสนิทตลอดทั้งตัว ขนสั้น ไม่มีสีอื่นใดปะปนเลยแม้แต่น้อย ยิ่งไปกว่านั้นยังมีลักษณะเป็นขนเส้นเล็กละเอียดนุ่มและเรียบตรงทั้งลำตัว ส่วนหัวกลมแต่ไม่โต มีปากเรียวแหลม หูใหญ่ ตั้งสูงเด่น
นัยน์ตาเป็นสีเหลืองอมเขียว หรือทองอ่อน อาจเปรียบได้กับดอกบวบแรกแย้ม หรือทองดอกบวบ
รูปร่างสะโอดสะอง คล่องแคล่ว หางยาว ปลายหางแหลมตรง โคนหางใหญ่และค่อย ๆ เล็กเรียวกลมไปจนสุดปลายหาง ขายาวเรียวได้สัดส่วนกับลำตัว อุ้งเท้าทอดคล้ายเท้าสิงห์ มีความสง่างามขณะเคลื่อนไหว
ลักษณะนิสัย
แมวโกนจามีนิสัยชอบสำรวจ มีความรักอิสระ ฉลาด ที่สำคัญคือแมวสายพันธุ์นี้ยังมีลักษณะนิสัยอื่น ๆ ที่คล้ายกับสิงห์ เช่น ปราดเปรียว คล่องแคล่วว่องไว และมีรูปร่างและท่าท่างสง่า เป็นต้น
แมวพันธุ์นี้มีความเชื่อว่า หากเลี้ยงไว้จะส่งเสริมในด้านการงาน มีอำนาจ บารมี วาสนา เป็นที่ชื่นชอบของเจ้านายและเพื่อนร่วมงาน คิดสิ่งใดทำสิ่งใดก็จะประสบความสำเร็จ
แมวไทยโบราณในตำราแมว นอกจาก 4 สายพันธุ์ที่กล่าวมา ยังมีอีก 2 สายพันธุ์ที่ยังสามารถพบได้ในปัจจุบัน คือ นิลจักร และแซมเศวตร แต่ไม่ได้พบเจอได้ง่ายนัก
5.ขาวมณี / ขาวปลอด (Khao Manee)

ขาวมณี / ขาวปลอด (Khao Manee)
ประวัติสายพันธุ์
แมวขาวมณี เป็นสายพันธุ์ที่ถูกบันทึกในช่วงศตวรรษที่ 14 เดิมมีชื่อว่า ขาวปลอด ซึ่งมีความหมายว่าสีขาวสนิททั้งตัว จากนั้นถูกเปลี่ยนมาเป็น ขาวมณี เนื่องจากมีสีตาที่แตกต่างกันออกไป
ในอดีต แมวขาวมณี เป็นที่ชื่นชอบของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ (รัชกาลที่ 5) โดยแมวพันธุ์ขาวมณีถูกเลี้ยงเป็นอย่างดีภายในวังไม่ให้คนภายนอกเห็น และได้รับการปกป้อง เพื่อให้เป็นแมวที่มีต้นกำเนิดจากราชวงศ์ไทย แมวขาวมณีจึงเป็นแมวที่พบได้ยาก และไม่เคยถูกส่งออกนอกประเทศ
จนกระทั่งปี 1999 คอลลีน เฟรมัท นักอนุรักษ์สัตว์ชาวอเมริกัน ได้เริ่มนำแมวพันธุ์ขาวมณีจำนวน 12 ตัว ไปทำการเพาะขยายพันธุ์ และหลังจากนั้นไม่นาน นักเพาะพันธุ์จากประเทศฝรั่งเศส ก็ได้สานต่อการขยายพันธุ์แมวขาวมณี ทำให้กลายเป็นเจ้าเดียวในประเทศแถบตะวันตก
ลักษณะทางกายภาพ
แมวขาวมณีมีลักษณะเหมือนแมวฝั่งตะวันตก รูปร่างเพรียว สวยงาม มีโครงสร้างกระดูกที่ค่อนข้างบาง และมีขาหน้าสั้นกว่าขาหลัง บริเวณส่วนหลังและข้างลำตัวโค้งเล็กน้อย และลักษณะขนที่พบเป็นขนสั้น เรียบ และมีสีขาวตลอดทั้งตัว
หัวของแมวขาวมณี มีขนาดเล็กและมีรูปทรงสามเหลี่ยม จมูกมีรอยหักเล็กน้อย หูมีขนาดปานกลางและตั้ง โดยเฉพาะในเพศผู้ แมวขาวมณีมีจมูกและอุ้งเท้าเป็นสีชมพู
แมวขาวมณีมีลักษณะพิเศษที่โดดเด่น คือ รูปทรงของตาและสีของตา จะมีลักษณะเหมือนกับอัญมณีที่วางอยู่บนหินอ่อน และมีสีตาที่หลากหลาย ตั้งแต่สีฟ้าอ่อนจนถึงสีฟ้าไพลิน สีเขียวมรกต สีเขียวเพอริดอท หรือ สีเหลืองแซฟไฟร์ นอกจากนี้ในสภาวะปกติขาวมณีสามารถมีสีตาที่แตกต่างกันทั้ง 2 ข้างได้
ลักษณะนิสัย
แมวขาวมณี เป็นแมวที่ขี้เล่นและขี้สงสัย เป็นแมวที่ชอบเล่นเกมส์และชอบที่จะสำรวจสิ่งแวดล้อมโดยรอบ เข้ากับเด็ก แมว และสัตว์ขนาดเล็กได้ดี นอกจากนี้ลูกแมวขาวมณีเป็นแมวที่ต้องการความรักความเอาใจใส่ และชอบเล่นกับแมวตัวอื่น ๆ
คนโบราณมีความเชื่อว่า การเลี้ยงแมวขาวมณีจะคอยค้ำคูณ และนำโชคลาภมาให้เจ้าของได้อยู่เสมอ
6.ไทยท็องกินีส (Thai Tonkinese)

ขอบคุณรูปภาพจาก เพจ แมวสยาม cats of Thailand
ประวัติสายพันธุ์
ในสมัยรัชการที่ 9 ยังมีแมวไทยอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่เกิดขึ้นใหม่ คือ ไทยท็องกินีส (Thai Tonkinese) เดิมมีชื่อว่า แมวพันธุ์วิเชียรมาศสีทอง (Golden Siamese) เป็นแมวที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างแมวพันธุ์วิเชียรมาศ (Siamese cat) กับแมวพันธุ์ศุภลักษณ์ (Burmese cat)
ต่อมาในปี ค.ศ. 1984 สมาคม The Cat Fanciers Association ได้มีการขึ้นทะเบียนสายพันธุ์ท็องกินีส และใช้ชื่อสายพันธุ์นี้มาจนถึงปัจจุบัน และถูกจัดเป็นแมวสายพันธุ์บริสุทธิ์ที่ได้รับความนิยมอยู่อันดับที่ 17 จากแมวพันธุ์บริสุทธิ์ทั้งหมด ในปี ค.ศ. 2013
ลักษณะทางกายภาพ
แมวพันธุ์ ไทยท็องกินีส เป็นแมวขนาดกลาง โดยหัวมีลักษณะกลม มีความยาวมากกว่าความกว้าง, มีโหนกแก้มสูง, ปากทู่ มีความยาวเท่ากับความกว้าง,หนวดบาง โค้งงอ, ตา เป็นรูปทรงอัลมอนด์ (Almond shaped) มีขนาดเหมาะสมกับใบหน้า, หูมีขนาดปานกลาง กลม ฐานหูกว้าง มีขนสั้นบริเวณหู, ลำตัวยาว เป็นกล้ามเนื้อแน่น, หางเรียวยาว
ขนเรียบ นุ่มคล้ายเส้นไหม (Silky) ยาวปานกลาง ขนเงาและมันวาว (Lustrous sheen) โดยสีขนสามารถพบได้หลากหลายสีมีมากกว่า 12 สี ซึ่งทุกสีจะต้องมีสีพื้นฐานเป็นส่วนประกอบ ได้แก่ สีน้ำตาล (Brown), สีเบจ หรือสีอ่อนซีด (Beige), สีฟ้า (Blue), หรือสีแพลตตินั่ม (Platinum)
ลักษณะนิสัย
แมวพันธุ์ไทยท็องกินีส มีนิสัยเป็นมิตร เอาใจใส่ ขี้เล่น และรักเจ้าของ มักจะคอยเดินตามเจ้าของ และชอบเจอผู้คน แต่ไม่ชอบให้วุ่นวายกับตัวเอง สามารถปล่อยให้แมวอยู่ตัวคนเดียวในบ้านทั้งวันได้ ไม่มีนิสัยชอบร้อง
ดั้งเดิมมีบรรพบุรุษเป็นแมวพันธุ์วิเชียรมาศ ทำให้แมวพันธุ์ท็องกินีส มีความฉลาด กระตือรือร้น ชอบที่จะกระโดดไปที่สูง สามารถปรับตัวกับคนและสัตว์ได้
สรุป
นอกจากความเชื่อของแมวแต่ละสายพันธุ์แล้ว คนไทยยังมีความเชื่อเรื่อง ลูกกรอกแมว (ซากลูกแมวที่ตายในท้อง) หากนำมาบูชาจะเกิดลาภผล และยังเชื่อในเรื่อง เพชรตาแมว (ลูกตาของแมวที่เป็นต้อหิน) เมื่อแมวนั้นตาย ดวงตาที่เป็นต้อจะแข็งเป็นหิน หากใครครอบครองจะเกิดโชคลาภ คิดสิ่งใดหรือปรารถนาสิ่งใดก็จะสมประสงค์ดังหวัง
ทั้งนี้ ต่อให้เป็นแมวมงคลจากตำราไหน หากเลี้ยงทิ้งๆขว้างๆ ย่อมไม่ส่งผลดีต่อผู้เลี้ยงอย่างแน่นอน การเลือกเลี้ยงแมวหรือสัตว์เลี้ยงทุกชนิด ควรเลี้ยงด้วยความรักความเอาใจใส่ ดูแลเรื่องที่อยู่อาศัย อาหาร และหมั่นพาไปตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้น้องแมวมีความสุขและอยู่กับเราไปนานๆ
บทความที่เกี่ยวข้อง
- เคล็ดลับเสริมโชคลาภ เสริมดวง 12 ราศี ในปี 2566
- 9 เครื่องราง ของขลัง และความเชื่อ ความศรัทธา
- 9 วัด อุดรธานี ขอพร เสริมดวงให้ชีวิตราบรื่นตลอดปี