ตำนานเรื่องเล่า พญานาคราช ผู้ปกครองพิภพบาดาล กษัตริย์แห่งนาคา 9 พระองค์ และบทสวดบูชาพญานาคราช ขอโชคลาภเงินทอง
พญานาคราช องค์นาคาธิบดี คือ กษัตริย์แห่งนาคา มี 9 พระองค์ แต่ละพระองค์เป็นพญานาคที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ อยู่ในศีลธรรมทั้งสิ้น ท่านเป็นกษัตริย์แห่งเมืองบาดาล ซึ่งปกครองวังนาคินทร์ต่างๆ และเป็นใหญ่ในหมู่มวลพญานาคทั้งปวง
วันนี้แอดนำข้อมูล ตำนานเรื่องเล่า พญานาคราช ผู้ปกครองพิภพบาดาล กษัตริย์แห่งนาคา 9 พระองค์ และบทสวดบูชาพญานาคราช ขอโชคลาภเงินทอง มาฝากเพื่อนๆ ไปดูกันเลยค่ะ
1. พญาอนันตนาคราช

พญาอนันตนาคราช ทรงเป็นโอรสองค์แรก ใน พระฤษีกัสสยปะ และ นางมัทรุ (ครูบาอาจารย์สื่อเป็นเอกฉันท์ให้ยึดตำนานนี้) และ ทรงเบื่อหน่ายความวุ่นวายของพี่น้องและได้เข้าเฝ้าถวายงานเป็นแท่นบรรทมขององค์พระนารายณ์ โดยมีพระนางอุษาอนันตวดีทรงเป็นแท่นบรรทมให้พระแม่ลักษมี
พญาอนันตนาคราช ทรงมีเดช และ พระบารมีมาก พระพละกำลังหานาคราชใดเทียบเทียม ทรงมีพระมเหสีหลายพระองค์ แต่ทรงมีใจรักมั่นเทิดทูนในพระนางอุษาอนันตวดี ศรีชายาคู่พระบารมี พญาอนันตนาคราช มีพระราชโอรส ที่จุติแดนเทพ ไม่ใช่ภูมินาคเพียงพระองค์เดียว คือ พญาเพชรภัทรนาคราช นอกนั้นโอรสธิดา เป็น นาคภูมิจุติ
ทรงบำเพ็ญ อพรมจริยาวิสัย ในดินแดนพรหมเพื่อบำเพ็ญบารมีพร้อม สำเร็จ อริยบุคคลใน กาลของพระศรีอาริยเมตตรัยพุทธเจ้า ร่วมกับพระชายา พระนางอุษาอนันตวดี
ราชาแห่งนาคทั้งมวลในตำนานของฮินดู อนันตเศษ (อะ-นัน-ตะ-เส-สะ) หรือ อนันตนาคราช มีขนาดตัว เป็นอนันต์สมชื่อ เพราะเป็นผู้นอนอยู่ในเกษียรสมุทรและให้พระนารายณ์นอนบนหลัง
บางตำนานเล่าว่าดาวนพเคราะห์นั้นก็ตั้งอยู่บนพังพานของอนันตนาคราช ส่วนหัวซึ่งมีตั้งแต่ห้าเศียรถึงหนึ่งพันนั้นไม่พ่นพิษเหมือนนาคอื่นๆแต่เป็นเปลวไฟและอนันตนาคราชก็จะร้องเพลงสรรเสิญบารมีของพระนารายณ์เป็นนิจ ในตำนานเล่าว่าตอนที่เหล่านาคเล่นโกง ที่แม่ไปพนันกับนางวินตาซึ่งเป็นแม่ของพญาครุฑ
(ทั้งคู่พนันสีม้าของพระอาทิตย์ เหล่านาคนั้นพ่นพิษใส่จนหางของม้าพระอาทิตย์เป็นสีดำ)
บ้างก็ว่าเหล่านาคตัวเล็กๆได้เลื้อยเข้าไปแทรกในขนสีขาวจนดูสีดำเป็นหย่อม) อนันตเศษนั้นรังเกียจบรรดาน้องๆเลยหนีไปจำศีลอยู่ตัวเดียว เวลาผ่านไปพระพรหมก็มาเจอเข้า เมื่อทราบว่าอนันตเศษไม่ชอบใจที่น้องโกงพนันเลยให้ไปนอนในเกษียรสมุทรเป็นเตียงให้พระนารายณ์ คำสาปที่ทำให้ครุฑจับนาคกินได้จึงไม่รวมถึงอนันตเศษด้วย ตำนานที่ดุเดือดของอนัตเศษที่สุดนั้นกล่าวว่าครั้งหนึ่งอนันตเศษเคยโผล่หัวขึ้นไปบนสวรรค์
(ไม่ใช่มุข เพราะตัวยาวจนไม่ต้องขึ้นไปทั้งตัว)
และโอ้อวดกับเหล่าเทวดาว่า ในสามโลกนี้มีแต่ตรีมูรติเท่านั้นที่มีอำนาจเหนือตน หากใครไม่เชื่อแล้วก็จงมาประลองกำลังกันเถิด เหล่าเทวดากลัวหัวหด มีแต่พระพายที่กล้าพอ คิดว่าอย่างไรนาคตัวนี้ก็เป็นแค่ดิรัจฉานการจำมาท้าตีท้าต่อยกับเทวดาจึงนับว่าโอหังนัก พระพายรับคำท้า ว่าแล้วพญาอนันตนาคราชก็เอาตัวเองพันรอบภูเขาลูกหนึ่งไว้ บอกว่าให้พระพายลองทำลายภูเขานี้ดูพระพายนั้นใช้กำลังสร้างพายุรุนแรงหมายจะพัดทำลายภูเขานั้นให้ยับเยิน
แต่อนันตเศษก็ขยายตัวเองให้ใหญ่ขึ้นแล้วแผ่พังพานป้องไว้ได้ทุกครั้ง สุดท้ายพระพายจึงทุ่มกำลังทั้งหมดเข้าโจมตีโดยดึงเอาลมในตัวสัตว์โลกทั้งมวลมาใช้ด้วยแต่ก็ถูกอนันตเศษกลืนเข้าไปทั้งตัว ทีนี้เมื่อไม่มีพระพายแล้ว สัตว์โลกทั้งหลายก็หายใจไม่ออก
ร้อนถึงพระนารายณ์ต้องมาบอกเตียงหลังโปรดให้คายพระพายออกมา อนัตนาคราชทำตาม ปรากฏว่าตอนที่อนันตนาคราชคายพระพายมานั้นก็บังเกิดเป็นลมรุนแรงพัดไปโดนภูเขาที่พันไว้จนราบเป็นหน้ากลอง ทั้งพระพายและอนันตนาคราชต่างก็นับถือ ในกำลังของกันและกัน เลยตกลงว่าการประลองครั้งนี้เป็นเสมอ บางที่ที่ค้นเจอ ยกบทนาคที่พันเขาพระสุเมรุไว้ตอนกวนเกษียรสมุทรให้อนันตนาคราชด้วย แต่จริงๆแล้วนาคที่รับบทนี้ก็คือพญาวาสุกี
2. พญามุจลินทร์นาคราช

ว่ากันต่อด้วยนาคราชที่คนไทยเรารู้จักกันเป็นอย่างดี และคุ้นตากันในพระประจำวันเสาร์ “ปางนาคปรก”
ประวัติของพญามุจลินทร์ นั้น อาจจะมีไม่มากและไม่ยาวเหมือนพี่ชายท่าน(พญาอนันต์ฯ)หรือองค์อื่นๆ แต่บทบาทท่าน ได้รับการยกย่องสรรเสริญว่าเป็น มหานาคเทวะแห่งพระพุทธศาสนา เลยทีเดียว และในความเชื่อของชาวไทย ยังมีตำนานกล่าวว่า ท่านมักจะปรากฏยังแม่น้ำทางภาคดเหนือของไทยอีกด้วยเช่นกัน
ครั้นล่วง ๗ วันแล้ว หลังพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ฯ
พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปประทับนั่งขัดสมาธิยังร่มไม้จิก อันมีนามว่า “มุจลินท์” อันตั้งอยู่ในทิศบูรพาหรือทิศอาคเนย์ แห่งไม้มหาโพธิ์ เสวยวิมุติสุขอยู่ ณ ที่นั้นอีก ๗ วันในกาลนั้นฝนตกพรำตลอด ๗ วัน พญานาคมีนามว่า
“มุจลินท์นาคราช” มีอานุภาพมาก พำนักอยู่ที่สระโบกขรณี ใกล้ต้นมุจลินท์พฤกษ์นั้น มีความเลื่อมใสในพระศิริวิลาศ พร้อมด้วยพระรัศมีโอภาสอันงามล่วงล้ำเทพยดาทั้งหลาย จึงเข้าไปใกล้แล้วขดเข้าซึ่งขนดกาย แวดวงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ๗ รอบ และแผ่พังพานอันใหญ่ ป้องปกเบื้องบนพระเศียร มิให้ลมและฝนถูกต้องพระกายพระผู้มีพระภาคเจ้า
ครั้งล่วง ๗ วัน ฝนหายขาดแล้ว พญานาคก็คลายขนดจำแลงกายเป็นมานพ เข้าไปถวายอัญชลีเฉพาะพระพักตร์ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานวาจาว่า
ความสงัดเป็นสุข สำหรับบุคคลผู้มีธรรมอันเห็นแล้ว ยินดีอยู่ในที่สงัด รู้เห็นตามความเป็นจริง ความไม่เบียดเบียน คือความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย และความปราศจากความกำหนัด คือความล่วงกามทั้งหลายเสียได้ด้วยประการทั้งปวง เป็นสุขในโลก ความนำอัสมิมานะ คือความถือตัวออกให้หมดไปเป็นสุขอย่างยิ่ง
และซึ่งครั้งนึง ท่านได้มานิมิตให้กับบัณฑิตท่านนึง และเอ่ยวาจาทิ้งไว้ว่า “เราเกิดมาเพื่อสร้างมหากุศล”
3. พญาภุชงค์นาคราช

พญาภุชงค์นาคราช เป็นพญานาคราชประจำองค์พระศิวะเทพ หรือ พระอิศวรเจ้า อยู่ในตระกลู วิรูปักษ์ ปู่ท่านมีพระอัครมเหสี คือ พญานาคิณีเทวีศรีปางตาล ( แม่ย่าทองคำ ) ซึ่งเป็นพญานาคิณีประจำองค์แม่พระอุมาเทวี มเหสีของพระศิวะเทพ และ มีพระมเหสีรองลงมาอีกมากมายรวมถึงพระสนมอีกนับพัน
๑. พญานาคินีมาสวิตรีเทวี
๒. พญานาคินีนิลกาลเทวี
๓. พญานาคินีอุษนาเทวี
๔. พญาเกร็ดแก้วนาคเทวี
๕. นางพญาเกศสมุทรเทวี
๖. นางพญาสุกุมาเทวี
๗. นางพญาจันทมณีเทวี
พระราชบุตรและพระธิดา
๑. พญาภุชเชฐษนาคราช
๒. พญาสิริโสภานาคินี
๓. พญาภุชรินทร์นาคราช
๔. พญาภาคีนาคราช
๕. พญาอเนกตชาตินาคราช
๖. นางพญาแก้วมณีนาคินี
๗. นางพญากัลยานาคี
๘. นางพญาปัทมานาคี
๙. นางพญามณีจันทร์นาคินี
พญาภุชงค์นาคราช มีอุปนิสัยตรงไปตรงมา ดูภายนอกมองว่าท่านดุ แต่แท้จริงแล้วท่านใจดีมาก รูปร่างสง่างาม อายุเปรียบกับคนอายุราว ๕๐ กว่า ๆ ท่านชอบศึกษาธรรมเป็นนิสัย หลังจากสละจากกษัตริย์แล้ว ท่านได้บำเพ็ญตบะเป็นฤๅษี และ ได้บำเพ็ญมาถึงทุกวันนี้
ส่วนท่านอาศัยอยู่น่านน้ำอ่าวไทยตลอดถึงอันดามัน คือ น่านน้ำเค็ม และ ได้อยู่ตามถ้ำต่างๆ ทั่วประเทศจึงได้พบเห็นว่าท่านอยู่แถบทุกภาค ของประเทศ ในขณะเดียวกันท่านได้เป็นฤๅษีในชั้นพรหม มีวิมานอยู่ที่พรหมโลก
ปู่ภุชงค์นาคราช มีหลายพระญาณบารมี เสมือนมีหลายปางค์แต่ละภาคปางค์ ก็ต่างกัน ภาคปางค์ที่เป็นกษัตริย์ท่านมีนิสัยเจ้าชู้มักมากในกามารมณ์
ส่วนที่บำเพ็ญตบะเป็นฤๅษีท่านมีความเมตตาชอบสอนธรรมะ และโปรดที่จะช่วยเหลือมวลมนุษย์ การที่พญานาคส่วนใหญ่นั้นเสพกามคุณ เป็นเพราะว่าการที่เสพกามนั้นจะได้ยังชีวิตอยู่ไปได้
ส่วนนาคที่ไม่ได้เสพกามคุณนั้น จะทำให้เวียนวายตายเกิดในชาติภพภูมิต่อไปทั้งที่มาเกิดเป็นมนุษย์โลก และ ตามภพภูมิต่าง ๆ
เหตุนี้จึงทำให้กษัตริย์ อธิบดี ผู้ที่ปกครองเมืองนาคราชต่าง ๆ จึงมีพระมเหสี และ พระสนมมากมาย และบางท่านบางพระองค์ยังคงมีพระชนมายุตั้งแต่พระพุทธเจ้าองค์แรกจนถึงปัญจุบัน
4. พญาศรีสุทโธนาคราช

เป็นพญานาคราชที่อยู่ตระกลูเอราปัถถะ
ปู่ท่านเป็นพญานาคราชประจำองค์ท้าวสักกะเทวราช (พระอินทร์) ซึ่งเป็นพระโอรสของพญานาโคศิรินาคราชกับนางพญาศรีนคราบาดาล(แม่ย่าศรีเมือง)
ปกครองพญานาคฝั่งประเทศไทยทั้งหมด โดยเฉพาะบริเวณภาคอิสานเกือบทั้งหมด เวียงวังอยู่ที่คำชะโนดหรือวังนาคินทร์ ซึ่งเป็นที่เชื่อมต่อระหว่างโลกมนุษย์กับเมืองบาดาล
(ซึ่งทั้งหมดอยู่ ๓ แห่ง คือ)
๑. หนองคันแท บริเวณตอนใต้ของธิเบต ประเทศจีน
๒. บริเวณประเทศลาว กรุงเวียงจันทร์ ตอนนี้สร้างพระธาตุหลวงนครเวียงจันทร์ปิดทางขึ้นลงเรียบร้อยแล้ว และ
๓. ที่พรหมประกายโลกหรือวังนาคินทร์ คำชะโนด อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี)
เจ้าปู่ศรีสุทโธฯ มีพระชายาหลายพระองค์
แต่ที่เป็นมเหสีเอกคู่บารมี คือ นางพญานาคิณีศรีปทุมมาวิสุทธิเทวี
พระนามของชายา ทั้ง 7 พระองค์
- นางพญานาคิณีศรีปทุมาวิสุทธิเทวี มีราชบุตรด้วยกัน 3 พระองค์ประกอบด้วย 1 องค์นาคินทร์ 2 องค์นาคา 3 องค์นาคี เป็นนางพญานาคิณีผู้ยิ่งใหญ่เคียงคู่องค์นาคาธิบดีศรีสุทโธฯ พระสวามี แห่งวังนาคินทร์พรหมประกายโลกคำชะโนด ทรงเป็นนางพญานาคิณีผู้มีน้ำพระทัยเมตตาปรานีต่อมนุษย์ทั้งหลายทั้งปวง สร้างทานบารมีต่อสัตว์ผู้ยากทั้งหลายอย่างไม่จบไม่สิ้น เป็นจ้าวย่านาคีที่ลูกหลานกราบไหว้ และรู้จักมากที่สุด มีพระวรกายสีเขียวตองอ่อน เศียร และปล้องพระนาภีสีทององค์นางพญานาคิณีศรีปทุมมาวิสุทธิเทวี มีน้ำพระทัยใจดีเป็นเลิศประเสริฐนักหนาคร
- นางพญานาคิณีศรีรัตนะ
- นางพญานาคิณีประไพศรี
- นางพญานาคิณีกนกกร
- นางพญานาคิณีพรธิดา
- นางพญานาคิณีรจนา
- นางพญานาคิณีปทุม (ชื่อคล้ายองค์ใหญ่)
และอีกพระองค์หนึ่ง ขาดไม่ได้เลยพระองค์นี้ พระนามคือพระนางสร้อยศรีสุดาจันทร์หรือคนทั่วไปหลายคนเอ่ยพระนามท่านเพี้ยนไปว่าศรีสุดาจันทร์ พระนางเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของเจ้าฟ้าหญิงพระองค์เจ้าศรีประทุมมานาคิณีซึ่งพระองค์ทรงเป็นมเหสีเอกของสมเด็จเจ้าพญานาคาธิบดีศรีสุทโธวิสุทธิเทวา
สำหรับพระนางสร้อยศรีสุดาจันทร์นี้พระองค์ทรงโปรดงานเย็บปักทักร้อย ประดิษฐ์ประดอยเก่งมาก เช่นการทำฉลององค์ถวายสมเด็จเจ้าพญานาคาธิบดีศรีสุทโธวิสุทธิเทวา ที่ว่านางสนมนาคีขึ้นมาบนโลกมนุษย์มายืม(เฟือม)ทอผ้าจากช้าวบ้าน และการทำบายศรี เป็นต้น ส่วนเจ้าฟ้าหญิงพระองค์เจ้าศรีประทุมมานาคิณี พระองค์ไม่ค่อยได้ทรงงานอะไรมากนัก
แต่พระนางทรงชอบการบำเพ็ญภาวนามีน้ำพระทัยที่งดงาม พระนางมีพระกิริยาที่สวยสดงดงามสมดังมเหสีขององค์ราชาผู้เป็นใหญ่ใต้บาดาลที่มีบริวารมากล้นอย่างเช่นภาษาอิสานว่า
(มีเหล่าบริวาลหมื่อกือกองล้าน) นะครับ เป็นเกล็ดความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ จากเจ้าชายเสลี่ยงรัตน์ราชนาคาโอรสธิดาของสมเด็จเจ้าพญานาคาธิบดีศรีสุทโธวิสุทธิเทวา และเจ้าฟ้าหญิงพระองค์เจ้าศรีประทุมมานาคิณี
5. พญาศรีสัตตนาคราช

พญาศรีสัตตนาคราช เป็นหนึ่งในพญานาคผู้มีฤทธิ์ ทรงศักดาอานุภาพ นามของพญาศรีสัตตฯ นี้ก็ปรากฏพบในตำนานอุรังคธาตุเช่นกันความดังนี้ว่า
พระศาสดา ก็เสด็จไปสู้ดอยนันทกังรี ซึ่งเป็นที่อยู่ของนางนันทยักษ์แต่ก่อน มีนาคตัวหนึ่ง ๗ หัว ชื่อว่า ศรีสัตตนาค เข้ามาทูลขอให้พระศาสดาทรงย่ำรอยพระบาทไว้ ณ ที่นั้น ทรงก้าวพระบาทข้ามตีนดอยก้ำขวาแล้วทรงแย้มพระโอฐ เจ้าอานนท์กราบทูลถาม ตถาคตตรัสว่า เราเห็นนาค ๗ หัวเป็นนิมิต ต่อไปภายหน้าที่นี้จักบังเกิดเป็นเมือง มีชื่อว่าเมืองศรีสัตตนาค
6. พญาเพชรภัทรฯ หรือ พญาเกล็ดแก้วนาคราช

เรื่องราวสังเขปโดยย่อ โอรสองค์ของปู่อนันต์ฯองค์นี้
เป็นอีก ๑ องค์ ที่ มีความเชื่อ ตำนานที่หลากหลายมายาวนาน ไม่ว่าจะเรื่องพระเกียรติยศ ควารัก หรือการบำเพ็ญก็ตาม
พญาเพชรภัทรนาคราช โอรสบุตร เพียง พระองค์เดียว ต่อองค์พญาอนันตนาคราช และ พระนางอุษาอนันตวดีแต่ ทรง มี พระ ขนิษฐา และ อนุชา ต่างพระมารดามากทรงเป็น โอปาติกะจุติ
พระมารดาท่านเป็นราชธิดาแห่งองค์ท้าววิรูปักษ์และพระนางนพเกตุนาคินีเทวี ตระกูลวิรูปักษ์ เกล็ดเพชรนี้ท่านได้จาก บารมีปฏิบัติแผ่พระเศียรแสดงบารมีได้ ๙ เศียร ทรงเชี่ยวชาญช่ำชองในการรบมาก เมื่อครั้งสงครามเทวะคราต่างๆ
พญาเพชรภัทรจะทรงเป็น ๑ ในแม่ทัพใหญ่นำรบเสมอ ทรงได้รับประธานพระขรรถ์วิเศษจากฤษีเทพอัศดร และ มีครูบาอาจารย์เทพพรหมฤษี ประสิทธิวิชา มากมาย
ทรงสำเร็จเป็นพระโสดาบัน ด้วยวิปัสสนากรรมฐาน การภาวนาดูจิต จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน โดยมีครูผู้สอนธรรมเป็น คือองค์พรหมพยันตีราช ทรงเป็น พระอนาคามีพรหม พญาเพชรภัทรนาคราชทรงบำเพ็ญเพียร ๕๐๐ ปี จนสำเร็จเป็นพระโสดาบัน
และทรงมาตามสอนพระชายาอัญญารินทร์ในเมืองมนุษย์สอนวิปัสสนาภาวนา จนยังโคตระภูตญาน เพื่อยังพระโสดาปฏิมรรคให้บังเกิดขึ้น เพื่อที่จะได้ทรงครองคู่กันอีก ๗ ชาติบนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา สวรรค์ ร่วมกันเผยแผ่พระศาสนา วิปัสสนากรรมฐาน จนถึงยุคพระศรีอาริย์ จน ทั้งสองเข้าสู่พระนิพพาน.

7. พญาดำแสนศิริจันทรานาคราช

องค์นี้ เป็นอีก ๑ โอรส ที่ได้รับการยกย่องในมหาบารมี ว่าเป็นถึง ๑ ใน ๙ นาคราชเลยทีเดียว
พญาดำแสนศิริจันทรานาคราช ทรงเป็นพระราชโอรสพญาศรีสัตตะนาคราช กษัตริย์ฝั่งโขง ๑ ในนาคาธิบดีทั้ง ๙ กับ พระนางมธุรินรดีเทวีราชธิดา พญาอนันต์นาคราช
ท่านพญาเพชรภัทรนาคราชทรงเรียกพระองค์ว่า เจ้าชายเล็ก องค์นี้มีหอกทองคำปลายเป็นเพชร เป็นอาวุธ
สิริโฉมมาก หวงน้องสาว แต่เจ้าสำราญชายามาก ทรงเก่งทั้งบู้และบุ๊ค คล่องแคล่วปราดเปรื่องและว่องไวดุจสายฟ้า ทั้งยังมีคุณธรรมและคุณงามความดี และพระองค์ท่านมากรัก
แต่พระองค์ทรงมีพระนางในดวงหทัย ผู้หนีท่านมาเกิดในเมืองมนุษย์ ผู้ที่จะเป็นพระชายาองค์สุดท้ายที่ท่านรักที่สุดแต่พระนางไม่ทนที่ท่านมีพระชายามาก
พระนางที่ทรงเสน่หาและทรงมีใจสมัครรักมั่นจริงๆ คือ พระนางมนตรามณีนฤมาสเทวี พระขนิษฐาต่างพระมารดาในทูลกระหม่อมพญาเพชรภัทรนาคราช แต่ด้วยพระนางนั้นไม่ปรารถนาที่จะสมรสกับพระองค์ต่อจากพระชายาพระองค์อื่นที่ทรงสมรสด้วยตามจารีตประเพณีจึงหลบหนีจากพระองค์ไป ให้ได้เป็นเหตุให้พระองค์เฝ้าติดตามในตัวพระนางทุกชาติภพจนถึงภพปัจจุบัน
8. พญายัสมันนาคราช

พญานาคราช หรือ กษัตริย์แห่งพญานาคผู้เก่งกาจด้านการรบที่สุด แห่งทะเลใต้
พญายัสมันนาคราช ท่านเป็น พระราชโอรสของพญาอนันตนาคราช และ เจ้านางสรัอยแสงคีรี อยู่ในตระกูลวิรูปักษ์
ท่านยังทรงเป็นพระอนุชา สหายร่วมรบกับพญาเพชรภัทรนาคราช พญาภาคินทร์นาคราช และ พญานฤบดินทร์นาคราช
พญายัสมันนาคราช ที่ไม่มีพระชายาเพราะท่านมิทรงสมหวังกับพระนางผู้เป็นที่รัก คือ พระนางมุญารินทร์รณีเทวี
ราชธิดาใน พญาภุชงค์นาคราช และ พระนางทองคำศรีปางตาล เนื่องจากเจ้าปู่ภุชงค์ทรงหวงราชธิดาองค์เล็กมาก จนทำให้พญายัสมันมิอาจครองรักกัน และ มิอาจจะขัดพระประสงค์ของเจ้าปู่ภุชงค์จึงทรงจำศีล
ต่อมาพระองค์ได้ถวายตนเป็นนาคเทวราชรับใช้ท้าวสักการะเทวราช ผู้เป็นใหญ่แห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และด้วยพญายัสมัน เป็นผู้ม๊จริตเรียบร้อย อ้อนน้อมถ่อมตนและรู้จักงานราชประเพณี ธรรมเนียมอย่างดี มีกริยามารยาทที่อ่อนช้อย แต่อีกด้านหนึ่งก็เก่งกาจในเชิงรบและเชิงวิชามนต์อย่างหาผู้ใดเปรียบมิได้ จึงเป็นที่โปรดปรานของท้าวสักกะยิ่งนัก
พญายัสมันนาคราช เป็นพญานาคที่เชี่ยวชาญศาสตร์แห่งมนตรา “วิชาทิพย์มนต์นาวี” ที่ท่านได้บำเพ็ญด้วยอภิญญา
ท่านเป็นผู้ขึ้นชื่อเรื่องการฝักใฝ่ ศิลปะการต่อสู้ การรบ และ เวทมนต์อย่างยิ่ง และฝีมือการสู้รบของท่านไม่เป็นสองรองใคร และวิชาอาคมก็เป็นเอกในเหล่าพญานาคทั้งมวล เพราะท่านได้รับการถ่ายทอดวิชาการต่อสู้และคัมภีร์มนตรานาคราชมาจาก เทพเจ้าแห่งมหาสมุทร ซึ่งได้ถ่ายทอดวิชาสุดยอดแห่งการใช้ “ทิพยมนต์นาวี” ให้ จนไม่อาจมีผู้ใดต่อกรกับท่านได้เลย
กิตติศัพท์ของ พญายัสมัน เป็นที่เลื่องลือ จาก มหาสงครามระหว่างพญานาค กับ เหล่าคนธรรพ์ ซึ่งนำทัพโดย เพชรพญาธรอัคคี ซึ่งปรารถนาจะได้พระคัมภีร์อันเป็นสุดยอดวิชาทางเวท ของพระฤาษีสีหโคดม ที่บำเพ็ญพรตจนได้สำเร็จวิชาสุดยอดบนยอดเขา จนได้จารึกวิชานี้ไว้ในพระคัมภีร์ และมีเหล่าพญานาค และ คนธรรพ์ที่ปรารถนาจะครอบครองคัมภีร์นี้ เพื่อตนจะได้เป็นใหญ่ในโลกา
และเป็น เพชรพญาธรอัคคี ซึ่งได้ถือโอกาสที่ พระฤาษีสีหโคดมที่ไปบำเพ็ญตบะขั้นสูงและเก็บคัมภีร์ไว้ในหอมนต์ ขโมยพระคัมภีร์ออกมาได้ และเมื่อได้คัมภีร์ไปแล้ว ได้ศึกษาเรียนรู้จนได้บรรลุวิชาขั้นสูง จึงเกิดความเหิมเกริมที่จะยึดครองโลกและสวรรค์ รวมถึงวังบาดาลไว้ในอำนาจตนเอง
เพชรพญาธรอัคคี กรีทาทัพคนธรรพ์ ไปเปิดศึกกับเหล่าพญานาคในวังบาดาล เหล่าพญานาคผู้ทรงฤทธิ์ไม่อาจต้านทานพลังของเพชรพญาธรอัคคีได้ จนได้พ่ายแพ้ไปและหนีกระเจิดกระเจิง จนวังบาดาลได้ถูกยึดครองไว้ถึง ๔ แห่ง

เรื่องนี้ร้อนไปถึง หัวหน้าเทวดา คือ ท้าวสักการะเทวราช หรือ พระอินทร์ ผู้ครองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งทรงเห็นว่า หากขืนปล่อยให้ เพชรพญาธรอัคคี เหิมเกริมเช่นนี้ ต่อไปมิช้า วังบาดาล และ สวรรค์ จะต้องถูกยึดครองไปในที่สุด และเห็นว่า จะมีผู้ใดที่มีฝีมือการสู้รบที่เก่งกาจบ้าง จึงได้นึกถึง พญายัสมัน พญานาคหนุ่ม บริวารคู่พระทัยผู้ไร้เทียมทาน
ท้าวสักการะจึงได้รับสั่ง พญายัสมัน ให้ออกรบกับ เพชรพญาธรอัคคี
พญายัสมัน เมื่อได้รับบัญชามาเช่นนี้ ใจเดิมท่านเองก็โกรธเพชรพญาธรอัคคีเป็นอันมาที่ได้มาทำลายล้าง เหล่าพญานาคอันเป็นวงเครือญาติของท่านให้วอดวายไป แต่ตนเองได้รับใช้ท้าวองค์อินทร์อยู่ จะทำการใดโดยพลการ เกรงจะขัดต่อราชประเพณี ต่อเมื่อได้รับอนุญาตให้ไปรบเช่นนี้ ท่านจึงไม่รีรอที่จะออกศึก
ศึกระหว่าง พญายัสมัน กับ เพชรพญาธรอัคคี เป็นมหาศึกทีกล่าวขานไปทั้งสามโลกเพชรพญาธรอัคคี ยกทัพคนธรรพ์ออกมารบพุ่งกับ พญายัสมัน ที่นำทัพมาพร้อมกับเหล่านักรบพญานาคน้อยใหญ่
การสู้รบเป็นไปอย่างดุเดือด การปะทะกันนั้นสั่นสะท้านไปทั่วโลกา และมีเหล่าทหารไพร่พลของทั้งสองฝ่าย ต่างบาดเจ็บล้มตายเป็นอันมาก พญายัสมัน นั้นไม่ปรารถนาจะเห็นไพร่พลของทั้งสองฝ่าย ต้องล้มตายไปมากกว่านี้ จึงขอท้าประลองกับ เพชรพญาธรอัคคี เป็นการสู้รบกันแบบตัวต่อตัว เชื่อว่าหากได้กำจัดเพชรพญาธรอัคคีได้แค่องค์เดียว ก็จะยุติสงครามนี้ได้
ส่วน เพชรพญาธรอัคคี นั้นได้ฟังคำท้าเช่นนั้น ก็เชื่อมั่นในวิชารบและวิชามนต์ของตนเองที่หาผู้ใดต่อกรได้ จึงรับตกลงใจรับปาก ทั้งสองนั้นได้ต่อสู้กันอย่างดุเดือด โดยเป็นการประทะทางกำลัง และ วิชาการรบ ทั้งต่อสู้ระยะประชิด และการใช้ศาสตราวุธ ปรากฏว่า ทั้งสองเสมอกันไม่อาจหาผู้แพ้ชนะได้ จึงต้องใช้วิชาไม้ตายของแต่ละคนวิชามนตราอันสูงสุด
เพชรพญาธรอัคคี ใช้มนตราที่ตนเองที่ขโมยมาจากฤาษีสีหโคดม เป็นมนต์อัคคีที่ผาผลาญทุกสิ่งให้แหลกเป็นผุยผง ที่ปราบศัตรูให้พ่ายแพ้ทั้งหมด ส่วนพญายัสมัน ได้ใช้ วิชาสูงสุดคือ ทิพยมนต์นาวี เข้าต่อกรด้วย
ระหว่าง เปลวไฟและสายน้ำ ได้ปะทะกันอย่างหนักหน่วงแรงปะทะส่งเสียงก้องกัมปนาท ดั่งปฐพีจะแตกยกเป็นเสี่ยง และสั่นสะเทือนไปถึงสวรรค์ชั้นพรหม การปะทะกันเพียงครั้งเดียวนี้ เองก็ส่งผลถึงการแพ้ชนะได้แล้ว
ผลปรากฏว่า พญายัสมัน เป็นฝ่ายชนะ ด้วยทิพย์มนต์นาวีอันทรงมหิทธิฤทธิ์เกินกว่าจะหาวิชาใดมาต่อกรได้
เพชรพญาธรอัคคี ถูกซัดจนร่างแหลกละเอียด และสิ้นชีพในบัดดล ส่วนเหล่าไพร่พลคนธรรพ์ต่างเสียขวัญและไม่มีกะใจต่อสู้ด้วย ทำให้กองทัพพญานาค รุกต่อรบด้วยความห้าวหาญ จนแหล่าคนธรรพ์พ่ายแพ้ย่อยยับ
เหล่าพญานาคได้กอบกู้เอกราชของตนเองกลับคืนมาได้ วังบาดาลทั้งสี่ได้กลับสู่อธิปไตยอีกครั้ง หลังมหาศึกครั้งนี้ พญายัสมัน ซึ่งเป็นพียงพญานาคหนุ่มน้อย ได้รับการสรรเสริญแซ่ซ้องไปทั่วแดนสามโลก ท้าวสักการะเทวราช ทรงทราบว่า พญายัสมัน บริวารคู่ใจ ชนะศึกครั้งนี้อย่างยิ่งใหญ่ ก็ปลายปลื้มยินดีที่ที่สุด
จึงได้พระราชทาน รางวัลให้ด้วยการ แต่งตั้งยศสูงสุดของพญานาคขึ้นเถลิงราชเป็น นาคาธิบดี พระนามว่า “พญายัสมันนาคราช” หรือ จอมกษัตริย์แห่งพญานาค ซึ่งเป็น ๑ ใน ๙ นาคาธิบดี เฉกเช่นเดียวกับ พระบิดาของตนเองคือ พญาอนันตนาคราช และ พระประยูรญาติองค์อื่นๆ คือ พญาศรีสุทโธ และ พญาภุชงค์นาคราช
ท้าวสักการะเทวราช ทรงเลือกวังบาดาลให้ พญายัสมันนาคราช ไปปกครอง ซึ่งขณะนั้น แถบลุ่มแม่น้ำโขง มีพญาศรีสุทโธปกครอง ณ พรหมประกายโลก ป่าคำชะโนด จึงทรงพินิจ เมืองทางตอนใต้ ก็มีปู่ภุชงค์ปกครอง ณ แถบภาคใต้ จึงได้ทรงเลือกเมืองบาดาลทางใต้สุด คือ แถบแหลมมาลายู คือ เขตประเทศประเทศ มาเลเซียและสิงคโปร์ ให้ปกครอง
พญายัสมันนาคราช เมื่อได้รับการแต่งตั้งให้ไปครองวังบาดาลแล้ว ก็ทรงปกครองด้วยเมตตาจิต จึงเป็นที่รักใคร่ของปวงพญานาคน้อยใหญ่ทั้งหลาย ไม่เพียงแค่พระองค์ทรงมีพระทัย เมตตาต่อพญานาค แม้แต่มนุษย์เอง พระองค์ก็ทรงเมตตาและช่วยเหลือให้คนในแถบบริเวณนั้น ได้รับโชคลาภ การทำมาหากิน เจริญก้าวหน้าด้วยพระพรที่ประทานให้ จนบริเวณประเทศ มาเลเซียและสิงคโปร์ เป็นประเทศที่เจริญรุ่งเรืองอย่างมากจนมาถึงปัจจุบัน.
9. พญาครรตะศรีเทวานาคราช
นำเสนอประวัติขององค์าคาธิบดี มาแล้วทั้งหมด ๘ องค์ จาก ทั้งหมด ๙ องค์
ซึ่งแต่ละองค์นั้น มีประวัติที่น่าสนใจ ทั้งด้านฤทธานุภาพ และชั้นเชิงการรบ แม้แต่การตั้งมั่นบำเพ็ญเพียรในธรรมะ ถือว่า บารมีมากล้นทุกพระองค์เลย และนี่คือ องค์นาคาธิบดี องค์ลำดับสุดท้าย คือองค์ที่ ๙ ที่ผมจะนำเสนอนี้ มีประวัติที่น่าสนใจไม่แพ้องค์ก่อนหน้านี้เลย มีนามว่า

พญาครรตะศรีเทวานาคราช หรือ พญาครรตะศรี
พญานาคราชท่านนี้แปลกกว่าพญานาคราชองค์อื่นๆ ที่ ท่านนี้ไม่ได้มีวังบาดาลที่อยู่ในน้ำ แต่มีวังที่อยู่บนปราสาท ซึ่งตั้งอยู่บนผืนดิน ดังนั้น ณ เขาพนมกุเลน ซึ่งเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่เต็มไปด้วยเหล่าเทพที่มีฤทธิ์ และเหล่าฤาษี โยคีที่มีตบะแก่กล้า มาบำเพ็ญเพียรเป็นเวลาหลายพันปี
ปัจจุบันเขาพนมกุเลนอยู่ในเมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา ได้มีชายหนุ่มสองพี่น้องเป็นคนตัดไม้ ได้เดินทางมายังเขาพนมกุเลนเพื่อตัดไม้และหาของป่า คนพี่ชื่อ “ครรตะ” ส่วนคนน้องชื่อ “สุริยัน” ทั้งสองรักกันมาก มีอะไรก็แบ่งปันกัน
จนวันหนึ่งขณะแยกย้ายกันหาของป่าในเขาพนมกุเลน ทั้งสองได้เกิดพลัดหลงกัน ต่างตามหากันไม่พบ เพราะหลงไปในป่ามนต์ที่เกิดจากฤทธิ์ของโยคี ทั้งสองหากันหลายวันแต่ไม่พบ สุริยันผู้น้อง ได้อธิษฐานต่อเทวดาองค์หนึ่งให้ช่วย และได้มีเสียงดังมาว่า จะช่วยให้เจอ แต่จะถวายสิ่งใดเป็นการตอบแทน
เขาตอบว่า จะสร้างศาลบูชาท่านให้ เทวดาองค์นั้นตอบตกลง และดลใจให้ทั้งสองได้เจอกัน ทั้งสองเจอกันรู้สึกดีใจอย่างมาก กอดกันร้องไห้ และสุริยัน ได้ทำตามสัจจะแก่เทวดา โดยสร้างศาลให้ โดยครรตะผู้พี่เป็นคนมีความชำนาญในการตัดไม้ ใช้ขวานในมือ ตัดไม้ในป่ามา ส่วนคนน้องมีทักษะในการสร้างเรือนไม้ จึงนำไม้ที่พี่ชายตัดไว้มาสร้างศาลถวาย
เมื่อสองพี่น้องได้สร้างศาลถวายเสร็จ เทวดาองค์นั้นมาปรากฏและกล่าวขอบใจ แต่ท่านมีวิมานอยู่แล้วไม่ได้อยู่ในศาลนี้ และจะรอการสร้างศาลที่ใหญ่กว่านี้มากในภายหน้าจากสองพี่น้องคู่นี้ที่จะสร้างให้อย่างยิ่งใหญ่ ณ ที่แห่งนี้
ทั้งสองเอ่ยถามชื่อเทวดาองค์นี้ เทวดาตอบว่า เราคือ พระวิษณุ มาเพื่อรอการสร้างศาลยิ่งใหญ่จากทั้งสองที่จะสร้างถวายท่านในวันหน้า และถามทั้งสองว่า หากชาติหน้าเกิดใหม่ได้จะเกิดเป็นใคร คนน้องพญาสุริยันบอกว่า หากเกิดชาติหน้าจะขอติดตามรับใช้พระวิษณุ ณ วิมานของท่าน ส่วนคนพี่ จะขอเกิดมาเป็นเทวดาบำเพ็ญบารมีที่พนมกุเลนนี้ พระวิษณุจึงให้พรเป็นไปตามนั้น
ต่อมาทั้งสองใช้ชีวิตในพนมกุเลน และปฏิบัติธรรม จนถึงวัยชราและตายจากไป พรที่เคยขอไว้จึงสัมฤทธิ์ผล ครรตะ มาเกิดเป็นเทวดาในขาพนมกุเลน สถานที่เดิม และมีอาวุธวิเศษติดมาด้วย คือ ขวานวิเศษ เป็นสุดยอดอาวุธที่มีอานุภาพร้ายแรงที่พระวิษณุประทานให้เป็นรางวัล ซึ่งสามารถฟาดฟันศัตรูให้พินาศเพียงแค่ตวัดกวัดแกว่งแค่ครั้งเดียวเท่านั้น

คนพี่ มีนามว่า ครรตะศรีเทพบุตร
ส่วนคนน้อง ได้เคยขอตามไปรับใช้พระวิษณุ จึงได้ไปเกิดเป็นพญานาค ณ ท้องมหาสมุทรไกลออกไปจาก พนมกุเลน และรับใช้พระวิษณู ณ เกษียรสมุทร มีนามว่า “สุริยคุปต์” โดยมีชุดเกราะสุริยัน อันเป็นเกราะทิพย์ที่พระวิษณุประทานให้ จากผลบุญที่ได้สร้างศาลถวายท่าน โดยชุดเกราะนี้สามารถป้องกันอาวุธใดก็ได้ในโลกนี้
ทั้งสองพี่น้อง ไม่เคยได้พบเจอกันเลย เพราะกระจายจุติไปคนละที่
ครรตะศรี ได้ฝึกกรรมฐานในเขาพนมกุเลน จนบรรลุวิชาชั้นสูง มีฤทธิ์เดชอำนาจมหาศาล และปกครองดูแลเขาพนมกุเลน เพราะไม่มีใครจะมีฤทธิ์อำนาจ และ พละกำลังเท่าเทียมเขา จึงได้เป็นใหญ่ ณ ที่แห่งนี้
กาลเวลาผ่านไป ครรตะศรี ได้คิดถึงน้องชายตนเองที่เป็นพญานาค แต่ไม่ทราบว่าอยู่ที่แห่งใด และชื่อใด จึงได้ออกจากพนมกุเลนเพื่อตามหาน้องชายในชาติก่อน และหากได้เจอต่อหน้าก็จะจำได้ และด้วยตนเองมีฤทธิ์อำนาจมาก จึงเกิดความคะนอง ขณะที่ตามหาน้องชายตนเอง ก็ท้าประลองฝีมือกับเหล่าเทวดา และพญานาคตามที่ตนเองผ่านทางไป ก็ได้รับชัยชนะมาตลอด
ครรตะศรี ได้ถามพญานาคที่แพ้ให้ตนว่า พญานาคตนใดที่เก่งกาจที่สุดให้เอ่ยชื่อมา เพราะเชื่อว่าพญานาคที่เก่งที่สุด คงจะเป็นน้องชายของตนเอง เพราะสร้างบุญมาด้วยกัน ฝีมือคงจะสูสีกัน พญานาคเหล่านั้นต่างบอกว่า พญาวาสุกรีนาคราช เป็นเลิศที่สุด
ดังนั้น ครรตะศรี จึงเข้าใจว่าพญานาคองค์นี้ต้องเป็นน้องชายตนเองแน่ จึงเดินทางไปยังวังบาดาลของพญาวาสุกรี โดยขอทดสอบฝีมือก่อนเพื่อให้แน่ใจ พญาวาสุกรี เมื่อมีผู้มาหาถึงที่ และได้รับการท้าประลองฝีมือ ตนเองเป็นยอดนักรบอยู่แล้ว จึงตกลงรับท้าประลอง การปะทะกันระหว่างพญานาคที่เก่งกาจที่สุด กับ เทวดาแห่งเขาพนมกุเลน เป็นไปอย่างดุเดือดจนสั่นสะเทือนไปทั้งภพบาดาลและภพสวรรค์
แต่ไม่อาจหาผู้แพ้ชนะได้ เพราะทั้งกำลังและฤทธิ์ของทั้งคู่สูสีกัน แต่พญาวาสุกรีรู้ว่า ตัวเองได้เปรียบในการสู้ในครั้งนี้ เพราะเป็นการสู้ในน้ำ ซึ่งพญาวาสุกรี ถนัดที่สุด แต่ ครรตะศรีไม่ถนัดในน้ำ แต่หากไปสู้ในอากาศหรือพื้นดิน ตนจะต้องแพ้แก่ครรตะศรีแน่นอน ส่วนครรตะศรีเทพบุตร รู้ทันทีว่า พญานาคนี้ไม่ใช่น้องชายตนเอง จึงได้ขอตัวลาไป
พญาวาสุกรี อยากได้ครรตะศรีมาเป็นพวกตน จึงหาสิ่งล่อใจมาให้ ท่านได้เชิญให้ครรตะศรี ไปเยี่ยมชมและพักผ่อนในวังบาดาลของตนเอง ครรตะศรี ที่มีภารกิจตามหาน้องชาย ก็คิดว่าจะมาแวะชมวังบาดาลนี้ชั่วครู่ก่อนจะลาจากไป
แต่เมื่อได้เห็นสิ่งต่างๆภายในวังบาดาลที่มีความวิจิตรงดงามอย่างยิ่ง ในเมืองประดับไปด้วยเพชรพลอยทองคำระรานตา ซึ่งต่างจากพนมกุเลนที่ตนเคยอยู่ ซึ่งเป็นป่าไม้ ภูเขา ไม่มีสิ่งเย้ายวนชวนหลงใหลเช่นนี้เลย และเมื่อได้ทานอาหารทิพย์จากวังบาดาล ก็มีรสเลิศกว่า อาหารที่ตนเคยทานมาก่อน
และเมื่อยิ่งเห็นนางนาคีที่ออกมาร่ายรำต้อนรับ ซึ่งแต่ละนางมีความงดงาม แช่มช้อย จึงเกิดความพิสมัยยิ่งนัก โดยเฉพาะเมื่อได้พบกับ “พระนางศิริมายานาคินีเทวี” ผู้เป็นราชธิดาของพญาวาสุกรี ที่มีความงดงามเป็นเลิศที่สุดกว่านางนาคีใด จนครรตะศรี เกิดหลงรักอย่างสุดหัวใจ แต่ได้แต่เก็บงำความรู้สึกนี้ไว้ในใจ

ดังนั้นวิธีเดียวที่จะให้ ครรตะศรี สามารถอยู่ในวังบาดาลได้นั่นคือ ตนเองจะต้องกลายเป็นพญานาค และต้องลืมเลือนความทรงจำที่เป็นเทวดาเสียก่อน ครรตะศรี มีความรักอย่างยิ่งต่อผู้เป็นภริยาซึ่งเป็นพญานาคที่งดงามยิ่ง และหลงใหลในทิพยวิมานในวังบาดาล จึงตกลงจะกลายเป็นพญานาค โดย พญาวาสุกรีได้ ร่ายมนต์แปลงให้ ครรตะศรี กลายเป็นพญานาค และกินต้นไม่ทิพย์ในวังบาดาลเพื่อให้ลืมเลือนความทรงจำ จนตนเองได้ลืมเลือนทุกอย่างเกี่ยวกับตนเอง และลืมความตั้งใจจะตามหาน้องชาย
ในที่สุด ครรตะศรี จึงกลายเป็นพญานาคในบัดนั้นเอง แม้ตนเองจะลืมความเป็นเทวดา แต่ตนเองก็ยังมีสภาวะของเทวดาอยู่โดยชาติกำเนิด จึงกลายเป็นครึ่งพญานาค ครึ่งเทวดา
ท่านจึงมีนามว่า พญาครรตะศรีเทวานาคราช
พญาครรตะศรีเทวานาคราช ได้ปกครองดินแดนวังบาดาลอย่างปกติสุขเรื่อยมา จนกองทัพ จันทรคุปต์ที่เคยพ่ายแพ้แก่ พญาครรตะศรี ได้ยกทัพกลับมาอีกครั้ง แต่คราวนี้ พญาจันทรคุปต์ ได้ขอให้พี่ชายตนเองที่เป็นพญานาคราชที่เก่งกาจกว่าตนมากนัก มาช่วยสู้รบให้พญาวาสุกรี และ พญาครรตะศรี จึงออกสู้รบกับ พญาจันทรคุปต์และผู้เป็นพี่ชาย
พญาวาสุกรีได้เข้าต่อกรกับ พญาจันทรคุปต์ ซึ่งฝีมือก้ำกึ่งไม่แพ้ชนะกัน ส่วน พญาครรตะศรี ได้ต่อสู้กับ ผู้เป็นพี่ชายจันทรคุปต์ ฝีมือการสู้รบของพี่ชายนั้นล้ำเลิศ และ มีพละกำลังมหาศาลยิ่งกว่าพญาจันทรคุปต์มากนัก จนไม่อาจเอาชนะได้
ส่วนผู้เป็นพี่ชาย ก็เพิ่งจะพบเจอคู่ต่อกรที่ฝีมือเหนือชั้นสูสีกับตนเองครั้งแรกอย่างพญาครรตะศรี พญาครรตะศรี ใช้ขวานวิเศษของตนเองขึ้นมาร่ายมนต์สูงสุดและฟาดฟันไปที่คู่อริ แต่ฟาดฟันไม่เข้า ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ขวานไม่อาจทำอันตรายคู่ต่อกรได้ เพราะผู้นี้มีชุดเกราะวิเศษที่ทนทานต่อทุกสรรพาวุธ
พญาครรตะศรี ได้เข้ามาสู้ในระยะประชิดและได้ฟาดฟันขวานเต็มแรง แรงเหวี่ยงของขวานลงมาฟาดเข้าที่ชุดเกราะแต่ไม่สามารถทำอันตรายได้ ซ้ำปลายขวานยังฝังลงไปในเนื้อชุดเกราะ แต่ไม่เข้าถึงเนื้อ พญาครรตะศรีไม่อาจดึงขวานออกมาได้ ซึ่งทำให้เป็นทีของผู้พี่ ที่ใช้จังหวะนี้ หมายจะทำร้ายด้วยการใช้ดาบแทงไปยังพญาครรตะศรี
จังหวะนั้นเองที่ พญาวาสุกรี ได้เหลือบเห็นเหตุการณ์ที่พญาครรตะศรีจะเสียทีแก่ข้าศึก จึงร้องเอ่ยชื่อว่า ระวัง พญาครรตะศรี จังหวะที่ผู้พี่จะแทงเข้ากลางหน้าอกพญาครรตะศรี ซึ่งไม่มีทางที่จะป้องกันไว้ได้ ด้วยความเร็วของแรงดาบ และหากถูกแทงเข้าไป พญาครรตะศรี จะต้องสิ้นชีพแน่นอน แต่เมื่อเขา ได้ยินชื่อ พญาครรตะศรีนี้ ถึงกลับหยุดชะงัก และความทรงจำของตนเองจึงระลึกได้ว่า นี่คือ ผู้เป็นพี่ชายของเขาในอดีตชาติ
พญานาคผู้พี่พญานาคผู้นี้ มีนามว่า พญาสุริยคุปต์นาคราช ผู้เป็นน้องชายของพญาครรตะศรี เมื่ออดีตชาติสมัยที่เป็นช่างตัดไม้ สร้างเรือนให้พระวิษณุที่เขาพนมกุเลน เป็นผู้ที่พญาครรตะศรี ได้ออกตามหามาเนิ่นนาน พญาสุริยคุปต์ ได้จ้องมอง พญาครรตะศรี และเอ่ยชื่อเพื่อเตือนความทรงจำ แต่พญาครรตะศรี ได้ลืมเลือนความทรงจำไปหมดแล้ว ไม่ได้เอะใจที่ พญาสุริยคุปต์ ยั้งมือไม่ได้ทำร้ายตน และหลงคิดว่า พญาสุริยคุปต์ เผลอเปิดช่องให้ พญาครรตะศรี คิดได้ที จึงพ่นพิษเข้าใส่ใบหน้าพญาสุริยคุปต์จนได้รับพิษร้ายแรงจนล้มลง
พญาสุริยคุปต์ในสภาพที่บาดเจ็บสาหัส แต่ได้จ้องมอง พญาครรตะศรี ไม่ใช่สายตาอาฆาตแต่ เป็นสายตาแห่งความยินดีที่ได้เจอผู้เป็นพี่ชาย พญาครรตะศรี ได้เห็นดังนั้นจึงแปลกใจ และทันใดนั้น เกราะสุริยันและขวานวิเศษที่เป็นอาวุธของทั้งสองที่ตอนนี้อยู่ติดกันได้เปล่งประกายแสงทองออกมา แสงนั้นให้สาดเข้าหาทั้งสองคน
พญาครรตะศรีได้รับแสงทองนั้น ความทรงจำเดิมทั้งหมดของตนเองได้กลับคืนมาและเห็นว่า เบื้องหน้าตนเอง คือ พญาสุริยคุปต์ ผู้เป็นน้องชายที่ตามหา แต่บัดนี้ได้มาเจอแล้ว แต่ตนเองเป็นผู้ทำร้ายผู้น้อง จึงรู้สึกเสียใจอย่างหนักและโผเข้ากอด ทั้งสองต่างร้องไห้แก่กันและกันด้วยความอาลัยและความเสียใจ
พญาครรตะศรี ได้เล่าเรื่องราวทั้งหมดให้พญาวาสุกรีและพญาจันทรคุปต์ฟัง ดังนั้นสงครามจึงยุติลง พญาสุริยคุปต์อาการหนักเพราะพิษเข้าซึมในร่าง พญาสุริยคุปต์นับถือองค์พระวิษณุอย่างยิ่ง และก่อนที่ตนจะมาทำสงครามช่วยน้องชาย คือพญาจันทรคุปต์นี้ ตนเองได้คิดถึงผู้เป็นพี่ชายในอดีตชาติ คือ ครรตะศรี และขอพรแก่พระวิษณุ หากตนได้พบเจอกับพี่ชายอีกครั้ง
คราวนี้จะขอบนด้วยการสร้างเทวาลัยที่ยิ่งใหญ่เพื่อบูชาองค์พระวิษณุ จากเมื่อครั้งก่อนเคยสร้างศาลไม้ให้ เมื่อครั้งพลัดหลงกับพี่ชายที่เขาพนมกุเลน หลังจากพระวิษณุช่วยให้ได้พบเจอกัน พระวิษณุ ไม่ได้อยากให้ทั้งสองเจอกันเพราะรู้ว่าจะต้องเจอวิบากกรรมหนัก ต้องพลัดพรากกันไปอย่างน่าเศร้า แต่ด้วยแรงปรารถนาของเขาแรงกล้ามาก จึงต้องดลใจให้มาเจอกัน แม้ว่าจะเจอกันด้วยทางที่น่าเศร้าเช่นนี้ แต่จะขอทำตามปณิธาน
แต่ทว่าไม่อาจทำได้แล้ว เพราะตนกำลังจะตาย แต่จะขอตั้งสัจจะต่อพระวิษณุ ว่าหากตนเองเกิดใหม่ในชาติหน้า ไม่ว่าต้องมาเกิดในภพภูมิใด จะขอทำปณิธานตนเองให้สำเร็จ คือการสร้างเทวสถานบูชาท่าน
พระวิษณุได้มาปรากฏต่อหน้าและรับคำที่พญาสุริยคุปต์ร้องขอ พญาสุริยคุปต์ ได้สั่งเสียให้ พญาครรตะศรี ผู้พี่ นำร่างตนไปฝังไว้ ณ ดินแดนใกล้กับเขาพนมกุเลน จากนั้นได้สิ้นชีพลง ณ อ้อมกอดของ พญาครรตะศรี พญาครรตะศรี รู้สึกเสียใจอย่างหนัก ที่เป็นต้นเหตุทำให้น้องรักของตน เสียชีวิตลง และคิดว่าเป็นเพราะความหลงระเริงใน อำนาจ และทิพยสมบัติ ในวังบาดาล จนทำให้ตนเองต้องยอมลืมเลือนปณิธานของตนเองไปนั่นคือการ ตามหาน้องชาย หนำซ้ำยังมาทำร้ายน้องชายจนสิ้นชีพ พญาครรตะศรี เสียใจหนัก และ ไม่คิดจะครองวังบาดาลอีกต่อไป พร้อมสละสมบัติและภริยาสุดที่รักไว้เบื้องหลัง และกลับไปยังแดนเกิดคือ เขาพนมกุเลน พร้อมร่างของผู้น้อง เพื่อบำเพ็ญธรรม ณ ที่แห่งนั้น

พญาครรตะศรี แม้จะสละทิพยสมบัติในวังบาดาลมา แต่กายตนเองก็ยังเป็นพญานาคอยู่ แต่ตนสามารถเนรมิตเป็นเทพบุตร หรือ พญานาคก็ได้ พญาครรตะศรี เผ้ารอให้ดวงจิตของ พญาสุริยคุปต์ มาจุติใหม่ ซึ่งได้รับรู้จากญาณทัศนะว่า อีกหลายหมื่นปีจากนี้ ดวงจิตของพญาสุริยคุปต์ จะมาจุติในร่างมนุษย์ ณ ดินแดนบริเวณนี้ ในวรรณะกษัตริย์และเป็น จอมกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่
พญาครรตะศรี ได้บำเพ็ญธรรมจนกาลล่วงมา ถึงวันที่ ดวงจิต พญาสุริยคุปต์ มาจุติในวรรณะกษัตริย์ พญาครรตะศรี ดีใจอย่างสุดซึ้งที่การเฝ้ารอคอยจะได้พบเจอ น้องชายสิ้นสุดลง จึงได้เหาะไปยังห้องประสูติ จากนั้นได้เนรมิตเกราะสุริยัน อันเป็นอาวุธเดิมของ พญาสุริยคุปต์ ให้ไปรองรับร่างของผู้น้องในร่างของทารกน้อย
ทางหมอทำคลอด นางสนม นางในเห็น มีเกราะสีแดงมา ปรากฏรองรับร่างพระโอรส ก็ตกใจ และไปทูลพระราชา พระราชาให้โหรหลวงทำนาย ได้ความว่า โอรสผู้นี้เป็นผู้มีบุญญาธิการมาจุติและมี สิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นพญานาคคุ้มครอง จึงได้ตั้งชื่อพระโอรสผู้นี้ว่า
พระเจ้าสุริยวรมัน สุริยะ แปลว่า พระอาทิตย์ วรมัน แปลว่า เกราะ พระโอรส สุริยวรมันต์ เป็นเด็กที่ฉลาดปราดเปรื่อง และชอบเรียนรู้ศาสตร์หลายแขนงและแตกฉานทุกศาสตร์ อีกทั้งมีฝีมือการรบที่ยอดเยี่ยม
เมื่อพระองค์เจริญวัยจนอายุได้ ๑๔ ปี พญาครรตะศรี ที่คอยดูแลคุ้มครองอยู่ เห็นว่าพระโอรสโตพอจะรับรู้เรื่องราวต่างๆได้แล้ว จึงได้มาปรากฏตัวและได้เล่าเรื่องราวในอดีตให้ฟัง
พระโอรสแม้จะจำเรื่องราวต่างๆไม่ได้ แต่ก็มีความรู้สึกผูกพันกับ พญาครรตะศรี อย่างยิ่ง ได้แต่เชื่อสิ่งที่พญาครรตะศรี บอกมา
พญาครรตะศรี ได้เล่าเรื่องที่ พระโอรส เมื่อครั้งยังเป็นพญาสุริยคุปต์ มีปณิธานแรงกล้าที่จะ สร้างเทวสถานบูชาแด่พระวิษณุ พระโอรสได้ฟังดังนั้น จิตเดิมจึงเตือนให้เกิดความรู้สึกเช่นนั้นอย่างแรงกล้า จึงลั่นวาจาว่าจะต้องสร้างเทวาลัยนี้ให้สำเร็จ และจะสร้างอย่างยิ่งใหญ่ให้โลกสวรรค์ โลกมนุษย์ โลกบาดาลได้ประจักษ์
พญาครรตะศรี มองเห็นภาพในความคิดของเทวสถานนั้นในจิตของพระโอรส และมองว่า เพียงชั่วอายุคนหนึ่งที่แสนสั้น ไม่อาจสร้างให้เสร็จได้ เว้นแต่พญาครรตะศรี จะต้องมาช่วยเหลือด้วย
พญาครรตะศรี ได้มอบพลังวิเศษให้พระโอรส ที่ช่วยให้พระองค์มีพละกำลังมหาศาลและเชี่ยวชาญในศาสตร์การสู้รบ เพื่อจะได้ครอบครองดินแดนในบริเวณนี้ให้หมด และปราบชมเผ่าที่เป็นก๊กเป็นเหล่า รวมแผ่นดินเป็นจักรวรรดิ เพื่อจะได้มีไพร่พล บริวารเพื่อจะมาสร้างเทวสถานที่ยิ่งใหญ่นี้ได้
ผ่านไปไม่กี่ปี พระโอรสได้ขึ้นครองราชย์สมบัติปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้าสุริยวรมันต์ ที่ ๒ และยกทัพไปปราบแว่นแคว้นต่างๆจนรวบรวมดินแดนเป็น จักรวรรดิขอม อย่างยิ่งใหญ่
จากนั้น พระเจ้าสุริยวรมันต์ ได้วางแผนสร้างเทวาลัยที่ยิ่งใหญ่เพื่อบูชาพระวิษณุ โดยได้ถามพญาครรตะศรีว่า ควรจะสร้างจุดใด
พญาครรตะศรี แนะว่า ควรสร้างบริเวณที่ฝังศพของ พญาสุริยคุปต์ อดีตชาติของพระองค์เอง ที่ พญาครรตะศรี ได้นำศพมาฝังที่นี่ ซึ่งเป็นที่ราบลุ่ม พระเจ้าสุริยวรมันต์ จึงเลือกทำเลตามที่ได้รับคำแนะนำ แต่ปัญหาอีกประการเกิดขึ้น คือ อาณาจักรบริเวณนั้นแต่เดิม ไม่เคยมีการบูชาพระวิษณู เทวสถานในแคว้นต่างๆ จะเป็นไศยวนิกาย ซึ่งบูชาองค์พระศิวะ ทำให้พระเจ้าสุริยวรมันต์ กังวลว่า หากไม่มีผู้ศรัทธาพระวิษณุ การจะให้ไพร่พลมาร่วมสร้างเทวาลัยด้วยความศรัทธานี้ จะไม่สำเร็จ จึงได้มาปรึกษา พญาครรตะศรี
พญาครรตะศรี แนะว่า จะต้องให้ผู้คนนั้น ศรัทธาในพระวิษณุโดยเชื่อว่า พระวิษณุคือเทพแห่งการบำรุงรักษา ผู้ใดบูชาจะมีอายุยืนยาวและพบกับความสุดอย่างยิ่ง
คำแนะนำนี้ สำเร็จผล ผู้คนเริ่มศรัทธาและ เริ่มก่อสร้างเทวสถานที่ยิ่งใหญ่นี้ โดยพระเจ้าสุริยวรมันต์ ได้กำหนดแผนผังจากจิตเดิมของตนเอง คือการสร้างเป็นยอดปราสาท ยอดปรางค์ ๕ ยอด ตรงกลางเป็นยอดใหญ่ที่สุดและยอดปรางค์อีก ๔ ที่เล็กกว่า รายล้อมยอดใหญ่ไว้ ๔ ทิศ ซึ่งเป็นการจำลองมาจากเขาพระสุเมร ที่อยู่ตรงกลางจักวาล โดยมีเขา ๔ ลูกรายล้อม ๔ ทิศ
พญาครรตะศรี แนะให้พระองค์ใช้หินทราย หรือ ศิลาแลงที่อยู่บนเขาพนมกุเลน ซึ่งเป็นสถานที่บำเพ็ญของเหล่า เทพเทวา และโยคีผู้มีฤทธิ์ ทำให้สภาพหินและดินนั้นได้ซึมซับทิพยภาวะ กลายเป็นศิลาแลง ซึ่งจะบังเกิดความขลังด้วยอิทธิมนต์จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์
พระเจ้าสุริยวรมันต์ ได้ระดมไพร่พลนับหมื่นคนไปขนหินศิลาแลงมาจากเขาพนมกุเลนมาสร้างเทวาลัย แต่ระยะทางที่ไกลจากจุดที่จะสร้างมาก และการขนหินขนาดใหญ่มาตัดเพื่อทำเป็นก้อนสี่เหลี่ยม เป็นไปได้ยากเพราะไม่มีเครื่องมือที่ทันสมัย และ ใช้เวลานานมาก
พญาครรตะศรีได้ใช้อิทธิฤทธิ์ตัดหินบนเขาเป็นแท่งสี่เหลี่ยม และเนรมิตให้หินศิลาแลงนั้นเบาดั่งปุยนุ่น ทำให้ไพร่พลสามารถขนมาได้อย่างง่ายดาย การสร้างเทวาลัยนี้รุดหน้าไปมาก แต่ปัญหาเกิดตามมาอีก คือ เมื่อฝนตกหนัก น้ำจะซึมในพื้นดินทำให้ดินยุบตัวและทำให้ฐานรองรับเทวาลัยนี้คลอนแคลนและพังลงมาได้
พระเจ้าสุริยวรมันต์ จึงได้ขอแนะนำจาก พญาครรตะศรี ซึ่งได้แนะว่า จะต้องให้ไพร่พลขุดสระน้ำล้อมรอบ เพื่อเป็นฝายกักน้ำไว้ และ สร้างทางระบายน้ำ ให้น้ำในฝายไหลออกไปยัง ทะเลสาบ โดยให้ไปขุดสร้างทะเลสาบที่ไกลออกไป เพียงเท่านี้ ฝนตกหนักเพียงใดก็ไม่อาจทำให้เทวาลัยคลอนแคลนได้
พระเจ้าสุริยวรมันต์ จึงสั่งให้ไพร่พลทำตามนั้น และขุดทะเลสาบ ซึ่งทะเลสาบนี้มีชื่อว่า “โตนเลสาบ” นั่นเอง ในที่สุดมหาเทวาลัยที่ยิ่งใหญ่ก็ได้สำเร็จเสร็จสิ้นอย่างอลังการ พระเจ้าสุริยวรมันต์ ได้ทำตามปณิธานของพระองค์ได้สำเร็จสมบูรณ์ และได้ตั้งชื่อมหาเทวลัยนี้ว่า
ปราสาท นครวัด หรือ อังกอร์ วัด
ปราสาทนครวัด เป็นปราสาทเทวาลัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก และสร้างจาหินศิลาแลง ความยิ่งใหญ่แห่งสถาปัตยกรรมนี้ สร้างความประหลาดใจให้แก่นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร นักโบราณคดี และนักธรณีวิทยาเป็นอย่างมาก
เพราะปราสาทที่ยิ่งใหญ่นี้ ตามหลักแล้วไม่สามารถสร้างจากแรงงานคนได้สำเร็จ และหินศิลาแลงที่นำมาจากยอดเขาพนมกุเลนที่อยู่สูงลิบ สามารถเคลื่อนมาได้ด้วยกำลังแรงคนนั้น เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ โดยไม่มีอุปกรณ์ตัดหินทีทันสมัย อีกทั้งสถานที่ตั้งเป็นพื้นดินที่ซึมน้ำง่าย เมื่อฝนตกหนักปราสาทต้องพังลงมาแน่นอน แต่สามารถหาทางแก้ด้วยการขุดทะเลสาบ ซึ่งภูมิปัญญาอันยอดเยี่ยมนี้ แทบจะเป็นไปได้ยากที่คนสมัยนั้นจะคิดออกได้
สิ่งนี้สร้างความงุนงงให้กับเหล่านักธรณีวิทยาและวิศวกร ด้วยความมหัศจรรย์แห่งการสร้างสรรค์ที่เหลือเชื่อ และไม่อาจหาคำตอบว่าสร้างมาได้อย่างไร ปราสาทนครวัดจึงได้ถูกยกย่องให้เป็น ๑ ใน ๗ สิ่งมหัศจรรย์ของโลก
ภายหลังผ่านช่วงระยะเวลายาวนานแห่งการสร้างปราสาทนครวัดเสร็จสิ้น พระเจ้าสุริยวรมันต์ก็ล่วงเข้าวัยชราแล้ว พระองค์ได้สร้างปณิธานนี้จนสำเร็จและได้ฝากฝัง ปราสาท นครวัดนี้ให้ พญาครรตะศรี คอยดูแลต่อไป พญาครรตะศรี รับปากจะดูแลสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างนี้ให้ปลอดภัยจากข้าศึกที่จะมาทำลาย
พระเจ้าสุริยวรมันต์ สิ้นพระชนม์ และมีรัชทายาทสืบบัลลังก์ต่อ กาลเวลาผ่านไป อาณาจักรขอมของพระองค์ก็เสื่อมลงไป และถูกครอบครองจากอาณาจักรอื่น ซึ่งผลัดกันมาครอบครอง แต่ไม่มีอาณาจักรใดครอบครองได้นาน ก็ต้องคืน บริเวณนี้ให้แก่ลูกหลานและพสกนิกรของพระเจ้าสุริยวรมันต์ เพราะอิทธิฤทธิ์ของพญาครรตะศรี
ปราสาทนครวัด อยู่ในเมืองเสียมเรียบ และเคยถูกอาณาจักรเจาม หรือชาวเวียดนาม ยึดครองแต่ครองได้ไม่นานก็ต้องปลดปล่อยให้เป็นอิสระ ต่อมาได้ถูกอาณาจักรไทย ครอบครอง และต่อมาก็ต้องคืนดินแดนนี้ไป ( ซึ่งไทยเสียดินแดนให้ต่างชาติไป ๑๔ ครั้ง แต่ ครั้งนี้ถือว่าเป็นการเสียดินแดนที่น่าเสียดายที่สุด )
ต่อมาชาติฝรั่งเศส ครอบครองดินแดนนี้ และไม่นานก็ต้องคืนดินแดนนี้ให้กับคนพื้นเมืองซึ่งเป็นผู้สืบเชื่อสายจาก พระเจ้าสุริยวรมันต์ มีหลายคนมองว่า ดินแดนนี้ไม่มีใครจะสามารถครอบครองได้ เพราะจะเกิดเหตุอาเพทอย่างใดอย่างหนึ่งแก่ผู้ครอบครองและไม่รู้ว่าเกิดจากสิ่งใด แต่สุดท้ายต้องคืนให้ไป
ทุกวันนี้ ปราสาทนครวัด นอกจากจะเป็นสถาปัตยกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์ ยังเป็นเมืองมรดกโลก อีกทั้งยังเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมาเยือนที่นี่ เพื่อสัมผัสกับความมหัศจรรย์แห่งการสร้างสรรค์ที่สุดวิเศษ เกิดความเจริญรุ่งเรืองในบริเวณโดยรอบ เป็นที่ตั้งโรงแรม สถานบันเทิงมากมาย และสร้างรายได้ให้กับคนท้องถิ่นที่เป็นลุกหลานของ พระเจ้าสุริยวรมันต์ ทั้งสิ้น และเป็นเพราะการปกป้องและดูแลอย่างซื่อสัตย์ของ พญาครรตะศรีนาคราช นั่นเอง ซึ่งปัจจุบันก็ยังดูแลนครวัดแห่งนี้ไม่เสื่อมคลาย พญาครรตะศรีนาคราช จึงได้รับการสถาปนาให้เป็น องค์นาคาธิบดี องค์ที่ ๙ ซึ่งเป็นนาคกษัตริย์องค์สุดท้าย
คาถาบูชา พญานาคราช องค์นาคาธิบดี ทั้ง 9 พระองค์
ตั้งนะโม 3 จบแล้วกล่าวว่า “อะ มุ หะ กะ สุ ภุ นะ ยะ คะ” สาธุ
ขอก้มตัวลงกราบสักการะบูชา มหาราชานาคาธิปดีทั้ง ๙ วงศ์วานขอบารมีจงปกปักรักษา อำนวยอวยชัย ทุกข์ใดๆอย่าได้มาแผ้วพานบารมีปู่ฯ อยู่กับตัว
คำบูชาพญานาคราช (เพื่อขอโชคลาภ)
อะระหัง พุทโธ นะโมพุทธายะ นาคี นาคะ
ลาโภ ลาภะ โภคา โภคะ นะมะมิหัง ประสิทธิมัง
นะโมพุทธายะ มะอะอุ
สรุป
9 นาคาธิบดี กษัตรแห่งนาคา ผู้ปกครองแห่งเมืองบาดาล แต่ละพระองค์ เป็นผู้ปกครองที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ อยู่ในศีลธรรมและเป็นใหญ่ในหมู่มวลพญานาคทั้งปวง ลูกหลานนาคาหากอยากสมหวังในสิ่งที่ปรารถนา ไม่ว่าจะปรารถนาเงินทอง โชคลาภ หรือบารมี ต้องประพฤติดี รักษาสัจจะวาจา จะสำเร็จในสิ่งที่ต้องการ