วันวิสาขบูชา ประวัติความเป็นมา

วันวิสาขบูชา

ประวัติของ วันวิสาขบูชา

วันวิสาขบูชา เป็นวันที่สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ซึ่งเกิดขึ้นในวันและเดือนเดียวกัน คือ วันเพ็ญ (ขึ้น 15 ค่ำ) เดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 80 ปี

ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดได้เกิดขึ้นเมื่อ 2,500 กว่าปีก่อน ณ ดินแดนที่เรียกว่าชมพูทวีปในสมัยพุทธกาล

ประสูติ

เหตุการณ์แรก เป็น “วันประสูติ” เมื่อนางสิริมหามายาได้ประสูติพระโอรส ณ ใต้ต้นสาละนั้น ที่ป่าลุมพินีวัน ณ เขตแดนรอยต่อระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ของฝ่ายพระราชบิดา กับกรุงเทวทหะของฝ่ายพระราชมารดา ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 80 ปี

ครั้นพระกุมารประสูติได้ 5 วัน ก็ได้รับการถวายพระนามว่า “สิทธัตถะ” แปลว่า “สมปรารถนา”

ตรัสรู้

เหตุการณ์ต่อมาเป็น “วันที่เจ้าชายสิทธัตถะได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ ออกทรงผนวชได้ 6 ปี พระชนมายุ 35 พรรษา ณ ริ่มฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ประเทศมคธปัจจุบันคือที่ตั้งพุทธคยา ในตอนเช้ามืดของวันพุธขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนหก(๖)ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี

ปัจจุบันสถานที่ตรัสรู้แห่งนี้เรียกว่า พุทธคยา ณ ใต้ร่มโพธิ์พฤกษ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม สิ่งที่ตรัสรู้ คือ อริยสัจสี่ เป็นความจริงอันประเสริฐ 4 ประการของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จไปที่ต้นมหาโพธิ์ และทรงเจริญสมาธิภาวนาจนจิตเป็นสมาธิได้ฌานที่ 4 แล้วบำเพ็ญภาวนาต่อไปจนได้ฌาน 3

ปรินิพพาน

เหตุการณ์สุดท้าย เป็น “วันเสด็จดับขันธปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” ซึ่งเมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้และแสดงธรรมเป็นเวลานานถึง 45 ปี จนมีพระชนมายุได้ 80 พรรษา ทรงประชวรอย่างหนัก แต่ทรงอดกลั้นมุ่งเสด็จไปยังเมืองกุสินารา ประทับ ณ ป่าสาละ เพื่อเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน

ก่อนวาระสุดท้ายของคืนในราตรีเพ็ญเดือนหก(๖) พระพุทธองค์ก็ทรงประทานปัจฉิมโอวาทว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอันว่าสังขารทั้งหลายย่อมมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ของตนและประโยชน์ของผู้อื่นให้ บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด” หลังจากนั้นก็เสด็จเข้าดับขันธ์ปรินิพพาน ใต้ร่มสาลพฤกษ์ ในสาลวโนทยาน พระราชอุทยานของเจ้ามัลละ เมืองกุสินารา

วันวิสาขบูชา

ที่มา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

ธรรมเนียมการปฏิบัติใน วันวิสาขบูชา

พุทธศาสนาชนไม่ว่าจะเป็นบรรพชิต (พระสงฆ์ สามเณร) หรือ ฆราวาส (ผู้ครองเรือน) ทั่วไป จะร่วมกันประกอบพิธีเป็นการพิเศษทำการสักการบูชาเพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณา พระปัญญาคุณ และพระวิสุทธิคุณของพระพุทธเจ้าผู้เป็นดวงประทีปโลก

เมื่อวันวิสาขบูชา ซึ่งตรงในวันเดียวกันได้เวียนมาบรรจบอีกครั้งหนึ่งในรอบปี คือเวียนมาบรรจบในวันเพ็ญวิสาขบูชา กลางเดือน 6 ประมาณเดือนพฤษภาคม หรือมิถุนายนของไทยเรา ชาวพุทธทั่วโลก จึงประกอบพิธีสักการบูชา การประกอบพิธีในวันวิสาขบูชา แบ่งออกเป็น 3 พิธี คือ

  • พิธีหลวง (พระราชพิธี)
  • พิธีราษฎร์ (พิธีของประชาชนทั่วไป)
  • พิธีของพระสงฆ์ (คือพิธีที่พระสงฆ์ประกอบศาสนกิจเนื่องในวันสำคัญวันนี้)

การประกอบพิธีและบทสวดมนต์ในวันวิสาขบูชา ก็ปฏิบัติเช่นเดียวกับการประกอบพิธีในวันมาฆบูชา

ในวันนี้พุทธศาสนิกชนต่างพากันน้อมระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ด้วยการไปชุมนุมตามพระอารามต่าง ๆ เพื่อกระทำการบูชาปูชนียวัตถุอัน ได้แก่ พระธาตุเจดีย์หรือพระพุทธปฏิมา ที่เป็นพระประธานในพระอุโบสถอย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยเครื่องบูชามีดอกไม้ ธูปเทียน เป็นต้น

ทำบุญตักบาตร

วันวิสาขบูชาพุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมทำบุญตักบาตรในตอนเช้า จัดสำรับคาวหวานไปทำบุญถวายภัตตาหารที่วัด การกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ญาติที่ล่วงลับ และเจ้ากรรมนายเวร ปฏิบัติธรรม ฟังพระธรรมเทศนา รักษาศีล 5 ศีล 8 ซึ่งอาจจะมีการบำเพ็ญบุญกุศลอื่น ๆ เช่น ละเว้นการทำบาป ทำบุญถวายสังฆทาน ทำอิสระทาน ซึ่งส่วนใหญ่จะทำเกี่ยวกับการทำดีและทำตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า

เวียนเทียน

จากนั้นก็จะกระทำ ประทักษิณ หรือที่เรียกว่า เวียนเทียน รอบพระธาตุเจดีย์ หรือพระพุทธปฎิมาในพระอุโบสถ ด้วยการเดินเวียนขวาสามรอบ เพื่อรำลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ซึ่งการจุดธูปเทียนและถือดอกไม้เป็นเครื่องสักการบูชาในมือ แล้วเดินเวียนรอบโบสถ์ 3 รอบ

โดยขณะที่เดินนั้นพึงตั้งจิตให้สงบ พร้อมสวดระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ด้วยบทสวดมนตร์ตามลำดับ ดังนี้

บทสรรเสริญ พระพุทธคุณ ด้วยบท ” อิติปิโสภควา อรหังสัมมาสัมพุทโธ…พุทโธภควาติ “

บทสรรเสริญ พระธรรมคุณ ด้วยบท ” สวากขาโต ภควตาธัมโม…วิญญูหิติ “

บทสรรเสริญ พระสังฆคุณ ด้วยบท ” สุปฏิปันโน ภควโตสาวกสังโฆ…โลกัสสาติ “

เมื่อครบ ๓ รอบแล้วจึงนำดอกไม้ ธูป เทียน ไปบูชาพระธาตุเจดีย์ หรือพระพุทธรูปในพระอุโบสถ ณ ที่บูชาอันควรเป็นอันเสร็จพิธีเวียนเทียน

การแสดงพระธรรมเทศนา

จากนั้นก็จะมีการแสดงพระธรรมเทศนา ในพระอุโบสถ ซึ่งปกติจะมีเทศน์ ปฐมสมโพธิ ซึ่งเป็นเรื่องพระพุทธประวัติตั้งแต่ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน พิธีเริ่มตั้งแต่ประชุมฟังพระทำวัตรสวดมนต์ แล้วจึงฟังเทศน์ซึ่งจะมีไปตลอดรุ่ง

นอกจากนี้อาจจะมีการ ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน วัดและสถานที่ราชการ และบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ อย่างการเก็บกวาดขยะตามบริเวณวัด หรือแหล่งชุมชน ซึ่งการทำสิ่งที่ทำให้สบายใจ ทำความดี ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเช่นนี้ จะทำให้คุณมีจิตใจที่สงบและได้บุญกุศลกลับบ้านไปด้วย

Photo by charlie suchart on Unsplash

สรุป

ขอบคุณข้อมูลจาก


บทความยอดนิยม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *